วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง

ปัจจัยในการขับเคลื่อนการพัฒนาบนพื้นฐานของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมี 4 กลุ่มดังนี้
กลุ่มปัจจัยทุนทางสังคม
ทุนทางสังคมแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ • ทุนทางสังคมที่เป็นรูปธรรม อันรวมถึงทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ทรัพยากร และสมาชิกในสังคม กับทุนทางสังคมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น นวัตกรรมต่างๆ เทคโนโลยี เป็นต้น • ทุนทางสังคมที่เป็นนามธรรม เช่น วัฒนธรรม และภูมิปัญญา ที่เป็นกรอบการดําเนินชีวิตของสมาชิกในสังคม ความรู้ในสังคม ความสัมพันธ์ไว้วางใจกันในชุมชน เป็นต้น จากประสบการณ์ของชุมชนต่าง พบว่า โดยทั่วไปแล้ว คนในชุมชนจะกระตือรือร้นที่จะรวมกลุ่มกัน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น และปัญหานั้นส่งผลกระทบกับผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในชุมชน ดังนั้นกระบวนการสร้างสํานึกร่วมในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาจึงเกิดขึ้นอย่างธรรมชาติ โดยผ่านการรวมกลุ่มของคนท้องถิ่นในการร่วมกันใช้เหตุผลวิเคราะห์ปัญหา และสังเคราะห์แนวทางแก้ไขตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างและปกป้องผลประโยชน์ร่วมของคนภายในชุมชน เมื่อการรวมกลุ่มดังกล่าวประสบความสําเร็จ ชุมชนจําเป็นต้องสร้างเครือข่ายกับชุมชนอื่นที่ประสกับปัญหาเดียวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์ ความรู้ และร่วมมือกันสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ชุมชนตน ท้ายสุดการเรียนรู้ชึ่งกันและกันระหว่างชุมชนยังสามารถส่งเสริมการพัฒนาทางด้านต่างๆ อีกด้วย • ภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ความสําคัญของ วัฒนธรรมไทย คือ การมีคุณธรรม เป็นพื้นฐาน เราจึงต้องใช้คุณธรรมนําการพัฒนา โดยมี “ระบบดี ระเบียบสวย รวยคุณธรรม” วางแผนการจัดการที่ดีของสภาชุมชน ชุมชนที่มีวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ปกครองไม่ยาก ทั้งนี้ต้องบริหารด้วยปัญญา ทําอะไรก็ต้องใช้ปัญญา ซึ่งเมื่อ “มีปัญหา ปัญญาจึงเกิด” และต้องมีจิตใจที่ตั้งอยู่ในวัฒนธรรม มิได้มุ่งเอาชนะกัน แต่เน้นความพอดี โปร่งใส มีคุณธรรม การใช้ภู มิปัญญาและวั ฒนธรรมเป็นปัจจั ยในการขับเคลื่อน โดยใช้ประเพณีของท้องถิ่นของตนเอง ต้องทําเอง ฝึกเอง และเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะไม่ทําก็ไม่รู้ หรือไม่ทําก็ไม่มีทางทําได้ ต้องหาสถานที่สงบฝึกปัญญา ซักถามเมื่อสงสัย รู้ที่มาที่ไป รู้รากเหง้าตนเอง สร้างสํานึกรักบ้านเกิด สร้างนิสัยผูกมัดเชื่อมโยงชุมชนโดยการออมทรัพยฃ์ร่วมกัน ผ่านโครงการพึ่งตนเองเพื่อสร้างเม็ดเงิน และใช้เงินที่เหลือจัดสวัสดิการชุมชน • ศาสนา ปัจจัยด้านศาสนา นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสําคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากศาสนาทําให้คนเราดําเนินชีวิตตามกรอบคุณธรรม ไม่ฟุ้งเฟ้อ หลักคําสอนทางศาสนาเป็นที่พึ่งของทุกคนมาตั้งแต่เด็ก โดยส่วนใหญ่คนเราในวัยเด็กและวัยชรา จะให้ความสําคัญกับหลักคําสอนทางศาสนามากกว่าคนในวัยรุ่น ที่ยังคงดําเนินชีวิตอย่างคึกคะนอง และมักหลงไปตามความสนุกสนาน ทําให้มีเวลาศึกษาหลักศาสนาน้อยกว่าคนในวัยอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคนก็ยังคงต้องยึดหลักศาสนาในการดํารงชีวิต โดยคนที่ปฎิบัติตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัดจะได้รับความนับถือจากคนอื่นๆ ในชุมชนเป็นพิเศษ ดังจะเห็นได้จากศาสนาพุทธที่คนให้ความนับถือพระ หรือศาสนาอิสลาม ที่มุสลิมทุกคนจะให้ความนับถือโต๊ะครูเป็นอย่างมาก ศาสนาทุกศาสนาสอนให้เรารู้ว่า บาปบุญเป็นเช่นไร หรือสอนให้เชื่อในกฎแห่งกรรม ว่าทําอย่างไรได้ผลอย่างนั้น เหตุการณ์ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุและปัจจัย ศาสนาทุกศาสนามีหลักคําสอนโดยพื้นฐานที่คล้ายคลึงกัน การที่เราตีความให้แต่ละศาสนาแตกต่างกันนั้น เป็นสิ่งที่พวกเรามาคิดหรือบัญญัติกันเอาเอง และทําให้มีความเห็นที่แตกต่างในหลักคําเชื่อ ดังนั้น ถ้าจะให้ดําเนินชีวิตอย่างเป็นสุข เราควรดํารงชีวิ ตโดยเข้าใจหลักคําสอนที่แท้จริง ที่อยู่เหนือหลักบัญญัติของแต่ละศาสนา ไม่แบ่งแยกเขาแบ่งแยกเรา การนําหลักศาสนามาประยุกต์ใช้นั้น จําเป็นที่จะต้องมีความระมัดระวังที่สําคัญคือ ต้องไม่ประมาท โดยคําว่าประมาทนั้นครอบคลุมความหมายรวมถึง ความประมาทในการกระทํา ประมาทในทางความคิด และการพูดจา ทั้งนี้ เพราะตามธรรมชาติของพวกเราทุกคนมีความเหมือนกันคือ ทุกคนมีความโลภ โกรธ หลงอยู่ในตัวเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เวลาไปพบสิ่งหรือเหตุการณ์ใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามความปรารถนา หรือไม่เป็นไปตามภาพที่เรานึกคิดไว้ เราก็จะสร้าง “ภาพปฏิเสธ” ต่อเหตุการณ์นั้นๆ ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ทิฐิก็จะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว แต่หากเรามีสติอยู่ตลอดเวลาและยึดถือในหลักคําสอนของศาสนา เราจะสามารถสร้างภาพที่ด ีหรือเป็นกุศล ให้ตัวเรามีสัมมาทิฐิได้มากกว่า ภาพปฏิเสธหรือความคิดอันเกิดจากมิจฉาทิฐิ สําหรับการใช้ศาสนาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ควรอาศัยหลักคําสอนของศาสนาเผยแพร่ ควบคู่ไปกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีข้อเสนอแนะว่า ในการสอนหรือชักจูงคนอื่นๆ ให้เห็นคล้อยตามกับเรานั้น เราไม่ควรใช้คําว่า อย่า หรือสั่งห้ามไม่ให้ทําสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพราะธรรมชาติของคนเรานั้น จะยึดมั่นในอัตตา และไม่ชอบให้อัตตาถูกทําลายหรือถูกใครสั่งการ ดังนั้น เวลาจะสื่อสารกับใครในเรื่องใดๆ ก็ตาม ควรคิดค้นหากลวิธีที่นุ่มนวล และสอดคล้องกับจริตของผู้รับสาร โดยควรคํานึงถึงแบบแผนของการสื่อสารให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานแก่พสกนิกร ดังนั้นพระราชดํารัสหรือพระราชกรณียกิจของพระองค์ จึงเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนการพัฒนา บนพื้นฐานของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งในระดับบุคคล และชุมชน เนื่องจากพระองค์เป็นที่พึ่งทางจิตใจของคนไทยทุกหมู่เหล่า ดังนั้น จึงเป็นปัจจัยสําคัญในการปลุกจิตวิญญาณการทํางานเพื่อสังคม ตามรอยพระยุคลบาท การสร้างกิจกรรมในการขับเคลื่อนปัจจัยนี้สามารถทําได้หลายรูปแบบ ดังนี้ • จัดทําเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วเผยแพร่ไปยังชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ อาทิ • รวบรวมพระราชดํารัสในวโรกาสต่าง ๆ โดยจําแนกเป็นหมวดหมู่การพัฒนา เช่น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาแหล่งน้ำ การรวมกลุ่มอย่างสามัคคี เป็นต้น • รวบรวมพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวกับการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการดําเนินการตามพระราชดําริ และการดําเนินการที่สําคัญต่างๆ • รวบรวมสื่อต่าง ๆ ที่จัดทําเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ • เผยแพร่ วิธีการ และขั้นตอนการไปดูงานโครงการพระราชดําริ หรื อสวนจิตรลดา เป็นต้น • มอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบในการจัดทําเอกสาร และเผยแพร่ อาทิ สํานักงานคณะกรรมการประสานโครงการพระราชดําริ (กปร.) หรือศูนย์การเรียนรู้โครงการตามพระราชดําริ 8 แห่งทั่วประเทศ


กลุ่มปัจจัยการรวมกลุ่มและชุมชนเข้มแข็ง

หนึ่งในพลังขับเคลื่อนที่สําคัญในการพัฒนาบนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ การสร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง ตามความคิดเห็นของกลุ่มเห็นว่า ควรแบ่งแนวคิดออกเป็นสองส่วน คือการเสริมสร้างความเข้มแข็งในกลุ่ม และการถักทอเครือข่ายกลุ่มต่างๆ ในส่วนของการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มนั้น ควรเล็งเห็นถึงความแข็งแกร่งในตัวผู้นําชุมชนเอง ซึ่งจะมีส่วนอย่างมากในการกระตุ้นความสนใจของชุมชน ให้รู้จักเรียนรู้แผนชุมชนอย่างมีระบบ เพื่อขจัดปัญหาของชุมชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ความแข็งแกร่งนี้มีจุดหมายหลักสุดท้ายที่กลุ่ม โดยกลุ่มจะต้องรู้จักร่วมคิด เรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิด และประสบการณ์ ทั้งในเชิงการผลิต การตลาด ตลอดจนคํานึงถึงผลประโยชน์ที่จะมีต่อกลุ่มเป็นหลักในการตัดสินใจ เมื่อกลุ่มแต่ละกลุ่มมีความเข้มแข็งแล้ว เมื่อนั้นจึงจะถึงเวลาที่จะสามารถขยายออกสู่การสร้างเครือข่ายกับชุมชนอื่น ๆ ทั้งในรูปแบบของการแลกเปลี่ยน พบปะ และพูดจากัน จนเกิดเครือข่ายที่ถูกร้อยและถักทอ จนขยายใหญ่ และมีความเป็นปึกแผ่น หลักสําคัญเพื่อการมุ่งสู่ความสําเร็จของการถักทอเครือข่ายก็คือ การค้นหากลุ่มเข้มแข็ง และการเรียนรู้จากความสําเร็จและล้มเหลวของกลุ่มที่เข้มแข็ง ซึ่งจะทําให้เกิดผลดีในการแพร่ขยาย กลุ่มต่าง ๆ จึงต้องรู้จักหนุนเสริมซึ่งกันและกัน มีการแลกเปลี่ยนกระบวนความรู้ จนทําให้เกิดการเรียนรู้ในเครือข่าย ทั้งในการผลิต ด้านเทคโนโลยี และการหาตลาด อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เครือข่ายมีความมั่นคงและยั่งยืน กลุ่มในเครือข่ายจะต้องร่วมมือ ร่วมใจกันทํางาน และมีความไว้ใจซึ่งกันและกัน มีความสุจริตใจในการทํางาน อันจะเป็นส่วนเสริมให้การสร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง เป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาบนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดผลในการปฏิบัติอย่างแท้จริง อันจะนํามาซึ่งการแก้ปัญหาของชุมชนที่มีพื้นฐานจากความขาดแคลนและความยากจนได้สําเร็จ กระบวนการใช้เครือข่าย-ชุมชนเข้มแข็งขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีขั้นตอนดังนี้ • หาวิธีการถ่ายทอดการเรียนรู้ และถอดแบบ โดยมีชุมชนหลัก ชุมชนรอง และชุมชนเงา เป็นแกนระดับต่างๆ ในการถ่ายทอดสู่ชุมชนลูกข่าย ภายใต้หลักสูตรที่มีการสร้างร่วมกัน • สร้างความเข้มแข็งแก่บุคลากร โดยสร้างผู้นํา มีตัวตาย - ตัวแทน • มีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง โดยการสรุปบทเรียน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง • ปัจจัยหลักที่ควรจะมี เพื่อเกิดเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง คือ มีสถานที่ในการทํางานที่พร้อม มีแหล่งทุนหนุนเสริม และมีหลักสูตรที่จะเรียนรู้


กลุ่มปัจจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติ

ทรัพยากรธรรมชาตินั้นหมายรวมถึง ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศที่ทําให้เรามีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย ตั้งแต่ ป่า ดิน ต้นน้ำ ทะเล ปลายน้ำ ชายฝั่งทะเล ทรัพยากรทะเล และภูมินิเวศ ทั้งทางพืชและสัตว์ต่างๆ กระบวนการใช้ปัจจัยทางทรัพยากรขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง • สร้างจิตสํานึกชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และรักษาสิ่งแวดล้อม • สร้างองค์ความรู้ และสร้างกลุ่มการเรียนรู้เกี่ยวกับทรัพยากรร่วมกันในหมู่สมาชิก รวมทั้งส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชน หมั่นศึกษา วิจัย และทําความเข้าใจในศั กยภาพของทรัพยากรของชุมฃน และของประเทศ • กําหนดข้อบังคับให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และร่วมกันเฝ้าระวังไม่มีการทําลายทรัพยากร • ส่งเสริมกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรให้มีใช้ได้อย่างยั่งยืน • ถอดบทเรียนผลของความสําเร็จ และความล้มเหลวจากการพัฒนาที่ผ่านมาของสังคมไทย และชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ยั่งยืน


กลุ่มปัจจัยด้านรัฐธรรมนูญและแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่ใช้ในการกําหนดกฎระเบียบในการปกครองและการบริหารประเทศ ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 เปรียบเสมือนเข็มทิศชี้ทิศทางการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมของประเทศ ให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักที่ใช้ในการปกครองประเทศมาเป็นเวลานาน และมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาไปตามสภาวการณ์ ความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ดังเห็นได้จากกระบวนการจัดทํารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี 2540 ที่เกิดจากการบัญญัติโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ อันประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งจํานวน 99 คน ทําหน้าที่จัดทําร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อเป็นพื้นฐานในการปฏิรูปการเมือง ที่มุ่งส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทย ให้มีส่วนร่วมในการปกครอง และสามารถตรวจสอบการใช้อํานาจของรัฐได้ ตลอดจนปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (2545–2549) เป็นแผนที่ได้อัญเชิญหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้เป็นปรัชญานําทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ เพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤตและเกิดสังคมที่เข้มแข็งและมีดุลยภาพใน 3 ด้านคือ เป็นสังคมที่มีคุณภาพ เป็นสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ และเป็นสังคมที่สมานฉันท์ และเอื้ออาทร เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบในการร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ได้สนับสนุนการดําเนินงานในโครงการ และนโยบายต่างๆ ที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์สําคัญในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารประเทศ และยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญานําทางในแผนพัฒนาฯ ทั้งนี้ สํานักงานฯ ได้ดําเนินโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดการแปลงแผนพัฒนาฯ ไปสู่ภาคปฏิบัติ โดยมีตัวอย่างโครงการดังนี้ • โครงการสร้างสรรค์พลังแผ่นดิน : โครงการดังกล่าวเป็นโครงการตามแนวคิดของรัฐบาล ที่จะใช้พลังแผ่นดินของประเทศ เพื่อแก้ปัญหาหลักๆ และแปลงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ไปสู่ภาคปฏิบัติให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม เช่น แก้ไขปัญหาความยากจนในระดับตําบล ลดปัญหายาเสพติด ปราบปรามการทุจริตการฉ้อราษฎร์บังหลวง สร้างพลังทางสังคม วัฒนธรรม และปัญญา ตลอดจนศีลธรรมและเร่งปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินให้เกิดผล ผ่านการอบรมเครือข่ายการพัฒนา ที่เป็นวิทยากรกระบวนการการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในเชิงร่วมคิด ร่วมทํา และร่วมรั บผิดชอบระหว่างสมาชิกในชุมชนต่างๆ ด้วยตนเอง ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์การบริหารจากเดิมที่รัฐหรือภาคราชการเป็นผู้แก้ไขปัญหาสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั้งหมด • นโยบายการพัฒนาเมืองและชุมชนให้น่าอยู่ : คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทําหน้าที่ประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองน่าอยู่และชุมชนน่าอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างการพัฒนาชนบทและเมืองอย่างยั่งยืน อันเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 เพื่อให้เกิดการพัฒนาเมืองและชุมชนให้น่าอยู่ ตามคุณลักษณะสําคัญ 4 ด้าน ได้แก่ • ความน่าอยู่ คือเรื่อง คุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมที่ดี มีความสะดวก สะอาด ปลอดภัย มีระเบียบวินัย • ภูมิปัญญาท้องถิ่น คือองค์ความรู้ที่สืบทอดกันมา ซึ่งต้องประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมวิจัยต่อยอด หรื อเลือกนําเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้กับภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เหมาะสม • เศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง คือการดําเนินกิจกรรมด้านการผลิต ควรยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานในการดําเนินชีวิตให้มีความสมดุล มีภูมิคุ้มกัน และเชื่อมโยงการผลิตชุมชนสู่ภายนอก • การบริหารจัดการที่ดี คือการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมมีส่วนร่วม • โครงการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารการเงินการคลังท้องถิ่น : โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อันมีวัตถุประสงค์ เพื่อมุ่งประสานและส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการกระจาย อํานาจสู่ท้องถิ่น อันเป็นแนวทางหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ในส่วนของการสร้างระบบบริหารจัดการที่ดีให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เพื่อเป็นรากฐานที่สําคัญ และก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ดีแก่สังคมไทย อันเป็นองค์ประกอบที่สําคัญองค์ประกอบหนึ่ง นอกเหนือจากความพอประมาณ และความมีเหตุมีผล ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอันเป็นปรัชญานําทางในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9

การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียง

เราสามารถนําเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นพื้นฐาน ในการเสริมสร้างผลกระทบในแง่บวกที่เกิดขึ้นจากการมีปฎิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและกระแสโลกาภิวัตน์ หรือนํามาใช้เป็นพื้นฐานสําหรับการสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบในแง่ลบได้ ดังนี้ • เพิ่มความรู้และขีดความสามารถของคนในชุมชนให้รู้จักตนเอง มีศักยภาพการเรียนรู้ และรู้จักทุนทางเศรษฐกิจ และสังคมของชุมชนตนเอง ในระดับที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่ตนมีอยู่ ให้สามารถทําความเข้าใจผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง ให้เกิดปัญญาความรู้คือ รู้เขารู้เรา ทั้งในระดับตนเอง ครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติ และระดับโลก เพื่อจะผลักดันให้เกิดการเตรียมความพร้อม และรู้จักเลือกใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในกระแสโลกาภิวัตน์ได้เป็นอย่างดี • สนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีขึ้นในระดับต่างๆ ทั้งในระดับการจัดการชีวิตตนเอง จัดการภายในครอบครัว จัดการภายในชุมชนและวิสาหกิจระดับต่างๆ โดยอาจเริ่มต้นจากการส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใส การจัดทําบัญชีที่ดี การมีส่วนร่วมรับฟังความคิดของผู้อื่น การปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และการสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่ม และสร้างเครือข่ายทางการผลิตและการค้าขาย รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีต่างๆ ด้วย • ใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เป็นองค์รวม เพื่อความสมดุลและยั่งยืน หรือเป็นยุทธศาสตร์ที่ให้ความสําคัญกับการเตรียมความพร้อม และมุ่งรักษาความสมดุลของการพัฒนา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการใช้ทุน 3 ด้านอย่างสมดุลกัน ได้แก่ ทุนทางสังคม ทุนทางเศรษฐกิจ และทุนทางทรัพยากร โดยแต่ละท้องถิ่น แม้จะมีวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการที่ต่างกันไปตามลักษณะของสาเหตุ และบริบทของแต่ละท้องที่ แต่ก็สามารถสร้างเครือข่ายแห่งความร่วมมือ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน รวมทั้งเชื่อมโยงผลประโยชน์ระดับท้องถิ่นและผลประโยชน์ระดับชาติเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกันต่อไปได้

กิจกรรมในชุมชนที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียง

กิจกรรมที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยที่ยังไม่มีการกล่าวถึงความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถจัดประเภทของกิจกรรมได้เป็น 3 กลุ่มกิจกรรมหลัก ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ • กิจกรรมการผลิต โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ที่ไม่ทําลายสิ่งแวดล้อม แต่ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนอย่างคุ้มค่า ด้วยการหมุนเวียนทุนธรรมชาติภายในพื้นที่และด้วยวิธีการทําเกษตรที่เน้นปลูกเพื่อกินเองก่อน ที่ผ่านมาชุมชนได้ทํากิจกรรมต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น กิจกรรมการทําปุ๋ยชีวภาพ การปลูกผักและข้าวที่ปลอดสารพิษ การทําสวนสมุนไพรของชุมชน การคิดค้นสารไล่แมลงสมุนไพร การทําถ่านชีวภาพ การรวมกลุ่มขยายพันธุ์ปลา การแปรรูปผลผลิต และการทําการเกษตรผสมผสาน เป็นต้น • การรวมกลุ่มกันเพื่อทํากิจกรรมร่วมกันของสมาชิกในชุมชน ด้วยทุนทางสังคมที่มีอยู่ ชุมชนได้รวมตัวกันทํากิจกรรมต่างๆ ที่เกิดจากความรักและความเอื้ออาทรของสมาชิกในชุมชน เช่น กิจกรรมต่อต้านยาเสพติด การนมัสการพระให้มาช่วยสอนจริยธรรมและศีลธรรมในโรงเรียนของชุมชน กิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านศูนย์การเรียนรู้ หรือโรงเรียนเกษตรกรในหมู่บ้าน การร่วมมือร่วมใจของสมาชิกในชุมชนทํากิจกรรมต่างๆ ภายในวัด การจัดตั้งร้านค้าที่เป็นของชุมชนเอง การจัดทําแผนแม่บทชุมชน การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการ การรวมกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และกิจกรรมการผลิตของกลุ่มต่างๆ เช่น การรวมกลุ่มทําขนมของแม่บ้าน หรือรวมกลุ่มเพื่อปลูกพืชผักสวนครัว นอกจากนี้ชุมชน ยังได้ตั้งกองทุนข้าวสารร่วมกับชุมชนอื่นๆ ในต่างภูมิภาค เพื่อค้าขาย หรือผลิตระหว่างกัน รวมทั้งเพื่อการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และขยายผลการพัฒนาไปยังเครือข่ายชุมชนอื่นๆ ด้วย • กิจกรรมที่ส่งเสริมคุณธรรม จิตสํานึกท้องถิ่น ส่งเสริมวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของเศรษฐกิจพอเพียงชุมชนได้ ริ่เริ่มกิจกรรมที่มุ่งปลูกฝังจริยธรรมความดีงาม และจิตสํานึกรักท้องถิ่นให้เกิดขึ้นแก่สมาชิกของชุมชน เช่น กิจกรรมที่ปลูกฝังสมาชิกในชุมชนให้มีความเอื้ออาทรต่อกันมากกว่าคํานึงถึงตัวเงิน หรือวัตถุเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์ กิจกรรมที่ส่งเสริมให้สมาชิกทําบัญชีอย่างโปร่งใส และสุจริต กิจกรรมการพัฒนาครูในชุมชนให้มีคุณภาพและมีจิตผูกพันกับท้องถิ่นเป็นสําคัญ รวมทั้งกิจกรรมที่ส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนพึ่งตนเอง ก่อนที่จะพึ่งหรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่น

โลกาภิวัฒน์กับเศรษฐกิจพอเพียง

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ปรัชญาที่ใช้ได้เฉพาะครอบครัวหรือชุมชนเท่านั้น แต่เป็นปรัชญาที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับสังคมโดยรวม การจะดำรงชีวิตอยู่ได้ตามหลักการพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น สมาชิกจำเป็นที่จะต้องเข้าใจสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตามอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์ ควบคู่ไปกับการพยายามหาหนทางหรือวิธีการที่จะดำรงชีวิตตามหลักการพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงให้ดำเนินไปได้อย่างสมดุลและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในยุคโลกาภิวัตน์ โดยอาศัยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบที่ชุมชนอาจจะได้รับจากกระแสโลกาภิวัตน์ ไม่ให้กระแสเหล่านั้นเข้ามาทำลายเอกลักษณ์และวัฒนธรรมชุมชน จนชุมชนต้องล่มสลายไป ดังนั้น เพื่อให้ชุมชนต่างๆสามารถดำเนินการได้ตามแนวทางข้างต้น เราซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่ง ของสังคมจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจปฎิสัมพันธ์ระหว่างกระแสโลกาภิวัตน์กับเศรษฐกิจพอเพียงก่อน โดยการทบทวนหรือมองย้อนกลับไปถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 อันเป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่สังคมไทยได้รับจากการเปิดรับกระแสโลกาภิวัตน์มากเกินไป โดยไม่ได้เตรียมความพร้อมของคนและระบบในสังคมให้ดีพอ ความเข้าใจถึงปัจจัยภายในประเทศที่มีส่วนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หรือปัจจัยที่มีส่วนผลักดันให้ผลกระทบของวิกฤตแผ่ขยายไปทั่วประเทศในวงกว้าง จะทำให้เราเข้าใจปฎิสัมพันธ์ระหว่างกระแสโลกาภิวัตน์และกระบวนการพัฒนาประเทศได้ดียิ่งขึ้นและ ความเข้าใจดังกล่าวอาจนำไปสู่ข้อเสนอแนะในการพัฒนาที่ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

วิกฤติเศรษฐกิจ

วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 เป็นบทเรียนที่ดีในการวางแผนการพัฒนาประเทศ โดยทำให้เห็นความสำคัญของแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ที่เน้นความพอเพียงเป็นพื้นฐานก่อน ดังพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานไว้ว่า “การเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ความพอมีพอกิน” ความผิดพลาดทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นพบว่า มีปัจจัยต่างๆ หลายประการที่มีส่วนผลักดันให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถจัดกลุ่มได้ดังนี้ วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ 1. อิทธิพลจักรวรรดินิยมตะวันตก ค่อยๆ กลืนวัฒนธรรมไทยและแทรกแซงกิจการภายในประเทศ ครอบงำปัจจัยพื้นฐานของประเทศ และบั่นทอนความมั่นคงของประเทศ ผ่านเครื่องมือ 4 อย่าง ได้แก่ สถาบันการเงิน นักการเมืองที่ทุจริต ระบบประชาธิปไตยแบบยึดเสียงข้างมากเป็นหลัก และสื่อมวลชน 2. แนวทางการพัฒนาของประเทศในช่วงที่ผ่านมานั้น รัฐส่งเสริมการพัฒนาแบบรวมศูนย์หรือเอาเงินเป็นตัวตั้ง มุ่งกระจายเงินไปสู่ชนบทโดยไม่คำนึงถึงการหาแนวทางเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับสมาชิกในชุมชน แต่เน้นส่งเสริมให้สมาชิกมุ่งผลิตเพื่อส่งออก และทำรายได้แทนการปลูกเพื่อให้พอเพียงต่อการบริโภคภายในครัวเรือน 3. ผลจากการพัฒนาดังกล่าว ทำให้ สมาชิกในชุมชนคุ้นเคยกับการก่อหนี้ ไม่สนใจการออม มีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือลงทุนเกินตัว และวางแผนการใช้เงินโดยขาดความรอบคอบ ทำให้ขาดการเตรียมพร้อมในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม สังคม ค่านิยม และอิทธิพลของสื่อมวลชน 1. การเปลี่ยนแปลงทางสังคมมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตในสังคมไทย โดยในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ไม่คิดช่วยเหลือสังคม เนื่องจากระบบการศึกษานั้นเน้นให้ความสำคัญกับใบปริญญามากกว่าเน้นผลที่จะได้รับการศึกษาเล่าเรียน ขณะที่สถาบันส่วนใหญ่มักได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ทำให้วัฒนธรรมที่ดีงามแต่ดั้งเดิมถูกทำลาย มีการรับเอาวิถีการดำเนินชีวิตจากต่างประเทศมาโดยไม่ปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย เพราะถูกความเจริญของวัฒนธรรมตะวันตกแทรกเข้ามาในรูปแบบการบริโภคและอุปโภค เงินกลายเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต การเน้นสร้างความร่ำรวย ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากร เช่น ป่าไม้และทรัพยากรทางทะเลเพื่อนำไปส่งเสริมความกินดีอยู่ดีทางวัตถุ 2. ขาดการถ่ายทอดความรู้และต่อยอดภูมิปัญญาไปยังรุ่นลูกหลาน หรือปลูกฝังค่านิยมในการดำเนินชีวิตที่ผิด เช่น ไม่ปลูกฝังให้สมาชิกรู้จักความพอเพียง ไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ ไม่รู้จักบุญคุณคน ไม่ให้ความนับถือผู้สูงอายุหรือพระสงฆ์ ไม่รู้จักหน้าที่ของการเป็นคนดี นับถือคนรวยโดยไม่คำนึงถึงวิธีการหาเงินของเขาว่าผิดกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งการไม่รู้จักวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ไทยและการไม่ยึดมั่น/เข้าใจในหลักคำสอนของศาสนา จึงนำเอาหลักคำสอนมาใช้ในทางที่ผิด และค่านิยมที่มุ่งส่งเสริมความเห็นแก่ตัว ตัวใครตัวมัน ทำให้สมาชิกไม่เห็นอกเห็นใจกัน หรือร่วมมือร่วมใจกันเมื่อเกิดปัญหา 3. การเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมและวิถีการดำรงชีวิตของสมาชิกในชนบท และปัญหาโครงสร้างประชากรของชุมชน เนื่องจากสมาชิกในชนบทไม่อยากเป็นชาวนา จึงอพยพออกจากท้องถิ่นเพื่อไปหางานทำในเมือง ทำให้เหลือแต่คนชราและเด็กอยู่ในชุมชน เป็นผลให้ชุมชนขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร สถาบันครอบครัวจึงล่มสลาย พ่อแม่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตนเองทำให้ละเลยที่จะอบรมและเอาใจใส่ลูก เพื่อนและสังคมภายนอกจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถชักจูงลูก มากกว่าครอบครัว 4. นักธุรกิจและผู้ประกอบการด้านสื่อขาดคุณธรรมและจริยธรรมในการประกอบอาชีพ มุ่งทำเงินมากกว่าคุณภาพของสื่อ ทำให้สื่อขาดมาตรฐานหรือเปิดเสรีมากเกินไป ทำให้ผู้บริโภคในสังคมไทยขาดข้อมูลที่มีคุณภาพและมักถูกสื่อครอบงำ เช่น สื่อให้ความรู้ที่ผิดพลาดในด้านข่าวสารและการสร้างค่านิยมที่ฟุ้งเฟ้อ หรือเด็กมักถูกอิทธิพลของสื่อมอมเมาได้ง่าย ระบบราชการ การเมือง และกฎหมาย 1. กระบวนการทางการเมืองไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ในการพัฒนาระดับชุมชน ดังจะเห็นได้ว่า ในอดีตประชาชนไม่สนใจที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือในกระบวนการเลือกตั้งเพื่อสรรหาคนดีมารับใช้ประเทศ ทำให้ได้นักการเมืองที่ไม่มีคุณธรรม มุ่งตักตวงผลประโยชน์ให้ตนเอง และยึดระบบอุปถัมภ์ช่วยเหลือพวกพ้องสร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ประกอบกับผู้นำประเทศไม่มีคุณภาพ การทุจริตและฉ้อราษฎร์บังหลวงทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ขณะที่บุคลากรในระบบราชการ มีจำนวนข้าราชการมากจนเกินงาน ทำให้เกิดการว่างงานแฝง 2. โครงสร้างทางการเมืองที่ไม่โปร่งใส และกระบวนการวางแผนพัฒนาไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนในประเทศมีส่วนร่วม หรือยังคงเป็นแบบรวมศูนย์การปกครอง ไม่กระจายอำนาจไปสู่กลุ่มคนที่เป็นรากฐานของสังคมได้อย่างแท้จริง ทำให้แนวทางการพัฒนาของรัฐไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เพราะภาครัฐไม่ฟังเสียงคนจากฐานราก จึงไม่รู้หรือเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของประชาชน และทำงานในลักษณะที่ไม่ประสานกันกับภาคเอกชนหรือภาคชุมชน 3. ระบบกฎหมายล้าหลัง ไม่สามารถใช้เป็นหลักตรวจสอบหรือถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเอื้อให้เกิดความเสมอภาคที่เปิดให้ทุกคนภายในชุมชนมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน ปัจจัยทางด้านความรู้ เทคโนโลยี และ การศึกษา 1. ปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี หรือนำมาประยุกต์ใช้โดยไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย และทิ้งภูมิปัญญาดั้งเดิมของสังคมไทยที่สะสมกันมา 2. ปัญหาด้านหลักสูตรการศึกษาที่มุ่งส่งเสริมแต่หลักวิชา ไม่ได้สอนให้คนคิดเป็น ทำเป็น ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งผลิตเด็กที่มีความรู้แต่ไม่มีคุณธรรม บัณฑิตส่วนใหญ่ทำงานเพื่อสนองผลประโยชน์ของบริษัทธุรกิจหรือนายทุน ไม่ได้เข้าใจสภาพชุมชนหรือปัญหาสังคมที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่หรือนำความรู้ที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและชุมชนตนเองได้ 3. ระบบการศึกษาขาดคุณภาพ ไม่จูงใจให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาสมัครใจเป็นครูที่ดี ขณะที่สมาชิกที่เป็นนักศึกษาเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวมาเป็นภาระของครอบครัวที่พ่อแม่พี่น้องต้องหาเงินมาส่งเสียให้เรียน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การที่สมาชิกในชุมชนไม่รู้จักคุณค่าของทรัพยากรหรือมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ทำให้เกิดปัญหาความเสี่อมโทรมของปริมาณและคุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติที่เคยมีอย่างสมบูรณ์ในอดีต ที่ดินถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเกษตรกรผู้เป็นเจ้าของที่ดินไม่รู้จักรักษา ไม่รู้วิธีการ หรือจัดการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพหรือทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทฤษฎีใหม่ : ขั้นที่สาม


หลังจากที่ชุมชนรวมพลัง ร่วมแรง ร่วมใจกัน ดำเนินงานจนเกิดประสิทธิผล และสังคมอยู่อย่างอบอุ่น มั่นคง และมีความสุขไปแล้ว ในขั้นที่ 3 ของทฤษฎีใหม่นี้จะเป้นขั้นที่นำไปสู่ธุรกิจชุมชน เพื่อให้สภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรในชุมชนดียิ่งขึ้น ขั้นนี้จึงเป็นขั้นตอนของการติดต่อประสานงานกับแหล่งเงินทุน เพื่อนำเงินมาใช้กับกิจกรรมต่างๆ ของเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาให้การดำเนินงานก้าวหน้ายิ่งขึ้น แหล่งเงินทุนที่สามารถติดต่อได้ เช่น ธนาคาร บริษัท ห้างร้านเอกชน รวมทั้งองค์กรและมูลนิธิต่างๆ ในการติดต่อประสานงานระหว่างเกษตรกรและแหล่งเงินทุนนี้ จะเป็นการเอื้อและประสานประโยชน์วึ่งกันและกัน คือ ประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับ ได้แก่ 1. สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาสูง เนื่องจากไม่ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง เพราะเป็นการจำหน่ายแก่ผู้ซื้อโดยตรง 2. ซื้อวัสดุปุกรณ์การเกษตรได้ในราคาถูก เนื่องจากเป็นการซื้อในราคาขายส่ง เพราะซื้อผ่านกลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ ประโยชน์ที่แหล่งเงินทุนจะได้รับ ได้แก่ 1. ซื้อผลผลิตการเกษตรได้ในราคาต่ำ เนื่องจากเป็นการรับซื้อจากเกษตรกรโดยตรง ไม่ต้องซื้อผ่านพ่อค้าคนกลาง 2. สามารถกระจายบุคลากรได้มากขึ้น เนื่องจากในแหล่งชุมชนนั้นมีกิจการของแหล่งเงินทุนดำเนินการอยู่ จึงทำให้สามารถขยายกิจการ เพิ่มงานและเพิ่มบุคลากรได้มากยิ่งขึ้น หากกล่าวโดยสรุป ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 คือการดำเนินการ เพื่อให้เกษตรกรมั่งคั่ง มั่นคง และสามารถบริหารจัดการการประกอบอาชีพ ทั้งภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีการเกษตรระดับนานาชาติ อย่างเท่าเทียมกับภูมิภาคต่างๆ ของโลก

ทฤษฎีใหม่ : ขั้นที่สอง


เมื่อเกษตรกรดำเนินการเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นต้น หรือขั้นที่ 1 คือการผลิตอาหารเพื่อบริโภคจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เกษตรกรมีอาหารไว้บริโภคในครอบครัวอย่างเพียงพอ และสามารถช่วยตัวเองได้แล้ว ขั้นต่อไปที่จะต้องดำเนินการต่อก็คือ การรวมพลังกันในรูปของกลุ่มหรือสหกรณ์ เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินกิจกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้ 1. การผลิต ในกระบวนการผลิตทางการเกษตรนั้น เกษตรกรสามารถที่จะดำเนินการร่วมกันในหลายๆ ด้านดังนี้ 1.1 การร่วมมือกันในด้านพันธุ์พืช พันธุ์พืชเป็นปัจจัยปลักอย่างหนึ่งในการประกอบอาชีพการเกษตร หากมีการแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันภายในชุมชนแล้ว จะทำให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนในการประกอบอาชีพ และจะทำให้การประกอบอาชีพนั้นประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น
1.2 การร่วมมือกันในการเตรียมดิน การเตรียมดินก่อนการปลูกพืชเป็นงานที่สำคัญอย่างหนึ่ง หากเกษตรกรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนเครื่องมืออุปกรณ์และแรงงานกัน ดังที่เกษตรกรทั่วไปเรียกว่า เอาแรงกัน จะทำให้ประหยัดแรงงานและค่าใช้จ่าย 1.3 การร่วมมือกันทำงาน เช่น การดำนา การหว่านเมล็ด หรือการปลูกพืช การกำจัดวัชพืช การเก็บเกี่ยวผลิตผล กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ ควรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมมือร่วมแรงกัน ดังกรณีประเพณี การลงแขก ของชาวนาไทยในอดีต

1.4 การช่วยเหลือกันในการจัดการแหล่งน้ำ หากมีการช่วยเหลือกันในการขุดสระน้ำ หรือในกรณีที่ขาดน้ำ มีการแบ่งปันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะเป็นการแก้ปัญหาหรือลดปัญหาในการขาดแคลนน้ำได้ 2. การตลาด ทฤษฎีใหม่ในขั้นนี้เป้นขั้นที่มีการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเกษตรกรสามารถผลิตได้มากกว่าปริมาณที่ใช้ในการบริโภค ส่วนที่เหลือก้สามารถนำไปจำหน่ายได้ ดังนั้นเกษตรกรควรมีการร่วมมือร่วมใจกันในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้ 2.1 ลานตากข้าว ลานตากข้าวเป็นเรื่องจำเป็น เพราะถ้าหากหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วไม่ตากให้แห้งจะทำให้ข้าวมีความชื้นสูง ทำให้ขายได้ในราคาต่ำ แต่การที่จะทำลานตากข้าวนั้น เกษตรกรมักประสบกับปัญหาอยู่เสมอ เช่น มีปัญหาเรื่องเงิน แรงงาน หรือแม้แต่พื้นที่ที่จะใช้ทำลานตากข้าว เนื่องจากเกษตรกรมีพื้นที่จำกัด ดังนั้นเกษตรกรควรร่วมมือกันในการจัดทำและใช้ลานตากข้าวร่วมกัน โดยกำหนดระยะดวลาการใช้ให้เหมาะสม เช่น กำหนดระยะเวลาเก็บเกี่ยวและตากข้าวไม่พร้อมกัน ถ้าหากทำเช่นนี้จะทำให้เกษตรกรประหยัดแรงงานและค่าใช้จ่าย จะทำให้มีรายได้สูงขึ้น 2.2 ยุ้งข้าวหรือยุ้งฉางเก็บรักษาเมล็ดพืชไร่ ยุ้งฉางมีไว้เพื่อเก็บรักษาผลิตผลในกรณีที่ยังไม่พร้อมที่จะขาย หรือในช่วงที่มีราคาตกต่ำ เกษตรกรในชุมชนควรร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยเหลือและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเช่นเดียวกับกรณีของลานตากข้าว
2.3 เครื่องสีข้าว เกษตรกรควรรวมกลุ่มกันเพื่อจัดหาหรือจัดตั้งเครื่องสีข้าว สำหรับใช้ในชุมชนของตนเอง จะทำให้ขายข้าวได้ในราคาสูง เพราะเป็นการขายให้โรงสีของตนเอง ไม่ต้องขายให้พ่อค้าคนกลาง และยังสามารถสีข้าวไว้บริโภคเอง เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย 2.4 การจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรร่วมกัน หลังจากที่เกษตรกรผลิตสินค้าทางการเกษตรได้แล้ว หากเกษตรกรนำมาจำหน่ายร่วมกันในรูปของกลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ เกษตรกรก็จะสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูง เนื่องจากการจำหน่ายในลักษณะเช่นนี้ เป็นการจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง นอกจากนี้การรวมกลุ่มกันจะทำให้มีพลังในการต่อรอง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกกดราคาจากผู้ซื้อ

3. ความเป็นอยู่ ในด้านสภาพชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชนนั้น เกษตรกรควรพึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐาน จำพวกอาหารการกิน เช่น พริก เกลือ น้ำปลา กะปิ น้ำมันพืช หรือแม้แต่เสื้อผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มก็สามารถแลกเปลี่ยนหรือแบ่งปันกันได้ 4. สวัสดิการ ในแต่ละชุมชนควรจัดตั้ง จัดหาสวัสดิการต่างๆ สำหรับชุมชน เช่น กองทุนเงินกู้ยืมสำหรับสมาชิก รวมทั้งการบริการในด้านสุขอนามัยในชุมชน สวัสดิการต่างๆ เหล่านี้เกษตรกรจะต้องร่วมมือร่วมใจกันจัดตั้งขึ้น เพื่อให้เป็นสวัสดิการภายในชุมชน 5. การศึกษา การศึกษาจะเป็นส่วนช่วยให้สังคมและชุมชนอยู่อย่างมั่นคงและมีความสุข ดังนั้นเกษตรกรที่ร่วมดำเนินการเกษตรทฤษฎีใหม่ควรมีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา เช่น จัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษา จัดหาวัสดุอุปกรณ์การศึกษาที่จำเป็นไว้บริการภายในชุมชน เพื่อประโยชน์ในการเล่าเรียนของบุตรหลานเกษตรกรเอง 6. สังคมและศาสนา ชุมชนจะอยู่อย่างสงบสุขได้จะต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ เช่น การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสมบัติ เช่น วัด โรงเรียน ตลาด ตลอดจนแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง สิ่งอำนวยประโยชน์เหล่านี้ หากเกษตรกรในชุมชนร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาให้มีสภาพดีแล้ว ชุมชนก็สามารถใช้ร่วมกันและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข กล่าวโดยสรุป ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สองก็คือ การเกาตรก้าวหน้า หรือเกษตรออมทรัพย์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ครอบครัวเกษตรกร ชุมชนเกษตรกรทุกระดับร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ในการบริหารและจัดการพื้นที่ทำการเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยเกษตรกร บุคลากร ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีคุณภาพ คุณธรรม จริยธรรม ร่วมคิด ร่วมทำ และประสานงาน เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาการเกษตรยั่งยืน

ทฤษฎีใหม่ : ขั้นที่หนึ่ง


พื้นฐานที่สำคัญของเกษตรกรที่จะปฏิบัติทฤษฎีใหม่ขั้นที่หนึ่ง ได้แก่ มีพื้นที่ค่อนข้างน้อย ประมาณ 15 ไร่ ค่อนข้างยากจน จำนวนสมาชิกปานกลาง (ไม่เกิน 6 คน) อยู่ในเขตใช้น้ำฝนธรรมชาติ ฝนไม่ชุกมากนัก ดินมีสภาพขุดสระเก็บกักน้ำได้ ในระยะแรกจะผลิตพอเพียงเลี้ยงตัวได้ แต่จะต้องกินอยู่อย่างประหยัด มีความขยันหมั่นเพียร มีความสามัคคี และช่วยเหลือเกื้อกูลกันกับเพื่อบ้าน หลักการที่สำคัญของการปฏิบัติคือรู้จักการบริหารและจัดการดินและน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับการบริหารเวลา บริหารเงินทุน และกำลังคน เพื่อให้บังเกิดผลผลิตเป็นอาหารและรายได้ตลอดปี และผลจากการที่ได้ทรงคิดและคำนวณ พระองค์ได้ทรงแนะนำให้แบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 : 30 : 30 : 10 และทำกิจกรรมดังนี้


1. ร้อยละ 30 ส่วนแรก ให้ขุดสระประมาณ 4-5 ไร่ สำหรับเก็บน้ำฝนธรรมชาติที่มีอย่างเหลือเฟือในฤดูฝนปกติ เพื่อใช้สำหรับรดน้ำพืชที่ปลูกในฤดูฝนยามเมื่อฝนทิ้งช่วงแห้งแล้ง การใช้น้ำจะต้องเป็นไปอย่างประหยัด โดยใช้วิธีการและเลือกพืชกับวิธีปลูกพืชแต่ละชนิดที่เหมาะสม วิธีการให้น้ำโดยประหยัด เช่น การตักรด การสูบส่งตามท่อยาง หรือการใช้ระบบน้ำหยดแบบพื้นบ้าน เป็นต้น ส่วนพืชและวิธีปลูกที่เหมาะสม เช่น เลือกพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่น พืชยืนต้นหรือพืชอายุสั้น โดยปลูกผสมผสานกันหลายๆ ชนิด ระหว่างพืชต้นใหญ่และพืชล้มลุก เพื่อการใช้พื้นที่และน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและมีเสถียรภาพ
น้ำที่เก็บในสระหากเหลือไปถึงฤดูแล้งให้ใช้ปลูกพืชอายุสั้นและราคาดี เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง และผักต่างๆ ไม่ควรนำไปใช้ปลูกข้าวนาปรังเป็นอันขาด นอกจากปีใดน้ำท่วมแปลงข้าวเสียหายหมด จึงจะพิจารณาปลูกข้าวนาปรังได้เพื่อให้มีข้าวบริโภค แต่ต้องประมาณพื้นที่ปลูกข้าวให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ในสระ รูปร่างและขนาดของสระอาจยืดหยุ่นได้บ้าง เช่น ในพื้นที่ที่ฝนมีปริมาณทั้งปีมาก หรือมีน้ำชลประทานมาเติมได้ ขนาดสระอาจจะน้อยกว่าร้อยละ 30 และถ้าพื้นที่บังคับหรือต้องการเลี้ยงสัตว์อาจขุดสระและบ่อหลายๆ บ่อก็ได้ แต่เมื่อรวมพื้นที่ทั้งหมดแล้วจะต้องใกล้เคียงร้อยละ 30 นอกจากนี้อาจจะรวมนับพื้นที่ร่องน้ำที่ยกคันขึ้น เพื่อปลูกไม้ยืนต้นด้วย หากสามารถเก็บน้ำในร่องได้ตลอดปี ในกรณีที่สามารถส่งน้ำมาจากแหล่งชลประทานได้ ต้องส่งมาในระบบท่อปิดเพื่อลดการสูญเสีย และส่งมาเติมในสระตามช่วงเวลาที่จำเป็นเท่านั้น การใช้น้ำจากสระต้องเป็นไปตามหลักประหยัดและพึ่งตนเองให้มากที่สุด



หากไม่ได้รับความช่วยเหลือการขุดสระจากราชการ หรือ แหล่งเงินทุนอื่น และต้องการขุดเอง ควรทยอยขุดสระแต่ละปีตามกำลังเงินและกำลังกายจนกว่าจะครบพื้นที่ร้อยละ 30 รูปร่างของสระคาดว่ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวๆ น่าจะลดการระเหยของน้ำได้ดีกว่าบ่อกว้าง ดินที่ขุดมาจากสระใช้ถมเป็นพื้นดินรอบพื้นที่เพื่อกันน้ำท่วม หากไม่ใช้ทำคันดินจะต้องแยกดินส่วนบนไว้ส่วนหนึ่ง สำหรับนำมาเกลี่ยทับดินชั้นล่าง

2. ร้อยละ 30 ส่วนที่สอง ใช้ปลูกข้าวเนื้อที่ประมาณ 4.5 ไร่ เนื่องจากทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า ข้าวเป็นอาหารหลักและอาหาร
ประจำวันของคนไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์ และเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงและมั่นใจในการดำรงชีวิต เกษตรกรไทยไม่ว่าจะโยกย้ายไปอยู่ที่ใดหรือเปลี่ยนอาชีพไปอย่างใด อย่างน้อยจะต้องมั่นใจว่ามีข้าวกิน และพยายามปลูกข้าวให้พอกินตลอดปี เพื่อให้มีเสถียรภาพด้านอาหาร ครอบครัวที่มีสมาชิก 6 คน ถ้าบริโภคข้าวเฉลี่ยประมาณคนละ 200 กิโลกรัมต่อปี จะต้องบริโภคข้าวไม่ต่ำกว่าปีละ 1,200 กิโลกรัม และถ้าทำนาปีในสภาพที่ควบคุมน้ำไม่ให้ขาดช่วงได้เมื่อฝนแล้ง ก็จะได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่าปีละ 4.5 x 325 = 1,462.5 กิโลกรัม แต่ถ้าบำรุงรักษาดีอาจจะมีผลผลิตเพิ่มมากกว่านี้ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้วหากยังมีฝนและน้ำในสระเหลือ ควรเลือกปลูกพืชอายุสั้นและราคาดีในสภาพนาดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น 3. ร้อยละ 30 ส่วนที่ 3 เนื้อที่ 4.5 ไร่ ให้ปลูกพืชสวน ไม้ยืนต้น และพืชไร่อย่างผสมผสาน โดยมีวิธีการและชนิดของพืชที่แตกต่างกันหลากหลายกันไปแต่ละพื้นที่ และขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ภูมิภาค ฤดูกาล ตลาด และเส้นทางคมนาคม ตลอดจนประสบการณ์และภูมิปัญญาของเกษตรกร เป็นต้น ไม่มีสูตรตายตัว ยืดหยุ่นได้ การปลูกพืชให้หลากหลายเช่นนี้จะเป็นการช่วยการกระจายเงินทุน แรงงาน น้ำ และปัจจัยการผลิตต่างๆ กระจายความเสียหายจากศัตรูพืช และความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ ตลอดจนกระจายรายได้ด้วย พืชที่ควรปลูกระยะแรกควรเป็นกล้วย เพื่อบังร่มและเก็บความชื้นในดิน ต่อไปควรเป็นผลไม้และไม้ยืนต้น ระหว่างที่ไม้ยืนต้นยังไม่โตก็ปลูกพืชล้มลุกอายุสั้นระหว่างแถว เช่น พริก มะเขือ ถั่วต่างๆ จนกว่าจะปลูกไม่ได้ จึงเปลี่ยนไปปลูกไม้ทนร่ม เช่น ขิง ข่า และพืชหัว เป็นต้น พื้นที่ปลูกพืชผสมผสานเหล่านี้มีพื้นที่รวมกันประมาณ 4.5 ไร่ แต่ในบางท้องที่ขนาดของสระและพื้นที่ปลูกข้าวรวมกันอาจน้อยกว่า 9 ไร่ พื้นที่ที่ลดลงอาจใช้ปลูกพืชผสมได้ รวมทั้งบริเวณรอบที่อยู่อาศัย คันดิน ทางเดิน และขอบสระ อาจใช้ปลูกพืชต่าง ๆ ได้ นับพื้นที่รวมกันเป็นพื้นที่ปลูกพืชผสม



พืชผสมเหล่านี้ส่วนใหญ่จะใช้เป็นอาหารประจำวัน ได้แก่ ผัก ผลไม้ สมุนไพร และเครื่องเทศ ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยที่กินกับข้าวมาเป็นเวลาช้านาน เช่นเดียวกับข้าวและปลา โดยเฉพาะพืชผักพื้นเมือง ปัจจุบันมีมากกว่า 160 ชนิด บางชนิดมีพบทั่วทุกภาค บางชนิดมีเฉพาะภาค ส่วนที่เหลือก็สามารถจำหน่ายเป็นรายได้ ตัวอย่างของพืชที่ควรเลือกปลูก ได้แก่ 3.1 พืชสวน (ไม้ผล) เช่น มะม่วง มะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อน มะพร้าวน้ำหอม มะขาม ขนุน ละมุด ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ส้มโชกุน ฝรั่ง น้อยหน่า กระท้อน มะละกอ ชมพู่ และกล้วย เป็นต้น
3.2 พืชสวน (ผักยืนต้น) เช่น แคบ้าน มะรุม สะเดา ชะอม ขี้เหล็ก ผักหวาน กระถิน เหลียง เนียง สะตอ ทำมัง ชะมวง มันปู มะอึก มะกอก ย่านาง ถั่วมะแอะ ตำลึง ถั่วพู และมะเขือเครือ เป็นต้น 3.3 พืชสวน (ผักล้มลุก) เช่น พริก กระเพรา โหระพา ตะไคร้ ขิง ข่า กระชาย ชะพลู แมงลัก สะระแหน่ บัวบก มันเทศ มันสำปะหลัง เผือก บุก ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม มะเขือ ฟักเขียว ฟักทอง ผักบุ้งไทย บักบุ้งจีน ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ผักไผ่ หอม กระเทียม และมะละกอ เป็นต้น 3.4 พืชสวน (ไม้ดอกและไม้ประดับ) เช่น มะลิ ดาวเรือง บานไม่รู้โรย กุหลาบ รัก ซ่อนกลิ่น ปทุมมา กระเจียว และดอกไม้เพื่อทำดอกไม้แห้ง เป็นต้น 3.5 เห็ด เช่น เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดเป๋าฮื้อ เป็นต้น 3.6 สมุนไพรและเครื่องเทศ บางชนิดจัดอยู่ในกลุ่มพืชผักแล้ว เช่น พริก พริกไทย กระเพรา สะระแหน่ แมงลัก และตะไคร้ เป็นต้น แต่ยังมีบางประเภทที่ใช้เป็นยารักษาโรคและน้ำมันหอม เช่น ขมิ้นชัน (โรคกระเพาะ) พญายอหรือเสลดพังพอน (โรคเริม) ไพล (ปวดเมื่อย) ฟ้าทะลายโจร (แก้ไข้) มะแว้ง (แก้ไข้และแก้ไอ) ชุมเห็ดและมัขามแขก (ยาระบายอ่อนๆ) ทองพันชั่ง (ความดันสูง) กระเทียม (ความดันสูง) ตะไคร้หอม (ยากันยุง) และแฝกหอม เป็นต้น

เกษตรทฤษฎีใหม่



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทำการศึกษาและวิจัยเชิงปฏิบัติ เกี่ยวกับทฤษฎีใหม่มาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ในพื้นที่ส่วนพระองค์ขนาด 16 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวาใกล้วัดมงคล ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี และทรงมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนาที่ทรงจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเสริมโครงการของรัฐ ทั้งนี้ก่อนที่จะทรงนำเอกสารออกเผยแพร่อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2537 นั้น ทรงให้จัดตั้ง "ศูนย์บริหารพัฒนา" ตามแนวพระราชดำริ อยู่ในความรับผิดชอบของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อเป็นต้นแบบสาธิตการพัฒนาด้านการเกษตรโดยประสานความร่วมมือระหว่าง วัด ราษฎรและรัฐ ทำการเผยแพร่อาชีพการเกษตรและจริยธรรมแก่ประชาชนในชนบท โดยทรงหวังว่าหากประสบความสำเร็จก็จะใช้เป็นแนวทางสาธิตในท้องที่อื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของการพัฒนาด้านการเกษตรนั้น ก็คือแนวคิดและมรรควิธีที่รู้จักกันในนาม "เกษตรทฤษฎีใหม่" พระราชดำริ "ทฤษฎีใหม่" เป็นแนวทางหรือหลักการในการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาคือที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการดำเนินการทฤษฎีใหม่ ได้พระราชทานขั้นตอนดำเนินงาน ดังนี้ ขั้นที่ 1 ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น สถานะพื้นฐานของเกษตรกร คือ มีพื้นที่น้อย ค่อนข้างยากจน อยู่ในเขตเกษตรน้ำฝนเป็นหลัก โดยในขั้นที่ 1 นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพของการผลิต เสถียรภาพด้านอาหารประจำวัน ความมั่นคงของรายได้ ความมั่นคงของชีวิต และความมั่นคงของชุมชนชนบท เป็นเศรษฐกิจพึ่งตนเองมากขึ้น มีการจัดสรรพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ให้แบ่งพื้นที่ ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10 ซึ่งหมายถึง พื้นที่ส่วนที่หนึ่งประมาณ 30% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝนและ ใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่าง ๆ (สามารถเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด ฯ ได้ด้วย) พื้นที่ส่วนที่สองประมาณ 30% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันในครัวเรือนให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้ พื้นที่ส่วนที่สามประมาณ 30% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย และพื้นที่ส่วนที่สี่ประมาณ 10% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่น ๆ (ถนน คันดิน กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัวหลังบ้าน เป็นต้น ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ลงมือปฏิบัติตามขั้นที่หนึ่งในที่ดินของตนเป็นระยะเวลาพอสมควรจนได้ผลแล้ว เกษตรกรก็จะพัฒนาตนเองจากขั้น "พออยู่พอกิน" ไปสู่ขั้น "พอมีอันจะกิน" เพื่อให้มีผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงควรที่จะต้องดำเนินการตามขั้นที่สองและขั้นที่สามต่อไปตามลำดับ ขั้นที่ 2 ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ปฏิบัติในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว ก็ต้องเริ่มขั้นที่สอง คือ ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่ม หรือ สหกรณ์ ร่วมแรง ร่วมใจกันดำเนินการในด้าน (1) การผลิต เกษตรกรจะต้องร่วมมือในการผลิตโดยเริ่มตั้งแต่ ขั้นเตรียมดิน การหาพันธุ์พืช ปุ๋ย การหาน้ำ และอื่น ๆ เพื่อการเพาะปลูก (2) การตลาด เมื่อมีผลผลิตแล้ว จะต้องเตรียมการต่าง ๆ เพื่อการขายผลผลิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การเตรียมลานตากข้าวร่วมกัน การจัดหายุ้งรวบรวมข้าว เตรียมหาเครื่องสีข้าว ตลอดจนการรวมกันขายผลผลิตให้ได้ราคาดี และลดค่าใช้จ่ายลงด้วย (3) ความเป็นอยู่ ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร โดยมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหารการกินต่าง ๆ กะปิ น้ำปลา เสื้อผ้า ที่พอเพียง (4) สวัสดิการ แต่ละชุมชนควรมีสวัสดิการและบริการที่จำเป็น เช่น มีสถานีอนามัยเมื่อยามป่วยไข้ หรือมีกองทุนไว้ให้กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ (5) การศึกษา มีโรงเรียนและชุมชนมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษา เช่น มีกองทุนเพื่อการศึกษาเล่าเรียนให้แก่เยาวชนของชุมชนเอง (6) สังคมและศาสนา ชุมชนควรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาสังคมและจิตใจ โดยมีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวกิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชนนั้นเป็นสำคัญ ขั้นที่ 3 ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า เมื่อดำเนินการผ่านพ้นขั้นที่สองแล้ว เกษตรกรจะมีรายได้ดีขึ้น ฐานะมั่นคงขึ้น เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือ ติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุน หรือแหล่งเงิน เช่น ธนาคาร หรือบริษัทห้างร้านเอกชน มาช่วยในการทำธุระกิจ การลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคารกับบริษัท จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน

ทฤษฎีใหม่ : การบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรตามพระราชดำริ



ิ ในทุกคราที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศนั้น ได้ทรงถามเกษตรกรและทอดพระเนตรพบสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อการปลูกข้าวและเกิดแรงดลพระราชหฤทัย อันเป็นแนวคิดขึ้นว่า 1. ข้าวเป็นพืชที่แข็งแกร่งมาก หากได้น้ำเพียงพอจะสามารถเพิ่มปริมาณเม็ดข้าวได้มากยิ่งขึ้น 2. หากเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาไว้ได้แล้ว นำมาใช้ในการเพาะปลูกก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้มากขึ้นเช่นกัน 3. การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่นับวันแต่จะยากที่จะดำเนินการได้เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนและข้อจำกัด ของปริมาณที่ดิน เป็นอุปสรรคสำคัญ 4. หากแต่ละครัวเรือนมีสระน้ำประจำไร่นาทุกครัวเรือนแล้ว เมื่อรวมปริมาณกันก็ย่อมเท่ากับปริมาณในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ แต่สิ้นค่าใช่จ่ายน้อยและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยตรงมากกว่า ในเวลาต่อมาได้พระราชทานพระราชดำริให้ทำการทดลอง "ทฤษฎีใหม่" เกี่ยวกับการจัดการที่ดินและแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตรขึ้น ณ วัดมงคลชัยพัฒนา ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี แนวทฤษฎีใหม่กำหนดขึ้นดังนี้ ให้แบ่งพื้นที่ถือครองทางการเกษตร ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเกษตรกรไทย มีเนื้อที่ดินประมาณ 10-15 ไร่ต่อครอบครัว แบ่งออกเป็นสัดส่วน 30-30-30-10 คือ ส่วนแรก : ร้อยละ 30 เนื้อที่เฉลี่ย 3 ไร่ ให้ทำการขุดสระกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก โดยมีความลึกประมาณ 4 เมตร ซึ่งจะสามารถรับน้ำได้จุถึง 19,000 ลูกบาศก์เมตร โดยการรองรับจากน้ำฝน ราษฎรจะสามารถนำน้ำนี้ไปใช้ในการเกษตรได้ตลอดปีและยังสามารถเลี้ยงปลาและปลูกพืชน้ำ พืชริมสระ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย ส่วนที่สอง : ร้อยละ 60 เนื้อที่เฉลี่ย ประมาณ 10 ไร่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตรปลูกพืชผลต่าง ๆ โดยแบ่งพื้นที่นี้ออกเป็น 2 ส่วน คือ ร้อยละ 30 ในส่วนที่หนึ่ง : ทำนาข้าว ประมาณ 5 ไร่ ร้อยละ 30 ในส่วนที่สอง : ปลูกพืชไร่หรือพืชสวนตามแต่สภาพของพื้นที่และ ภาวะตลาด ประมาณ 5 ไร่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคำนวนโดยใช้หลักเกณฑ์ว่า ในพื้นที่ทำการเกษตรนี้ต้องมีน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้ง ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ถ้าหากแบ่งแต่ละแปลงเกษตรให้มีเนื้อที่ 5 ไร่ ทั้ง 2 แห่งแล้ว ความต้องการน้ำจะต้อง ใช้ประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตร ที่จะต้องเป็นน้ำสำรองไว้ใช้ในยามฤดูแล้ง ส่วนที่สาม : ร้อยละ 10 เป็นพื้นที่ที่เหลือ มีเนื้อที่เฉลี่ยประมาณ 2 ไร่ จัดเป็นที่อยู่อาศัย ถนนหนทาง คันคูดินหรือคูคลอง ตลอดจนปลูกพืชสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริอันเป็นหลักปฏิบัติสำคัญยิ่งในการดำเนินการ คือ 1. วิธีการนี้สามารถใช้ปฏิบัติได้กับเกษตรกรผู้เป็นเจ้าของที่ดิน ที่มีพื้นที่ดินจำนวนน้อย แปลงเล็ก ๆ ประมาณ 15 ไร่ (ซึ่งเป็นอัตราถือครองเนื้อที่การเกษตรโดยเฉลี่ยของเกษตรกรไทย) 2. มุ่งให้เกษตรกรมีความพอเพียงในการเลี้ยงตัวเองได้ (Self Sufficiency) ในระดับชีวิตที่ประหยัดก่อน โดยมุ่งเน้นให้เห็นความสำคัญของความสามัคคีกันในท้องถิ่น 3. กำหนดจุดมุ่งหมายให้สามารถผลิตข้าวบริโภคได้เพียงพอทั้งปี โดยยึดหลักว่าการทำนา 5 ไร่ของครอบครัวหนึ่งนั้น จะมีข้าวพอกินตลอดปีซึ่งเป็นหลักสำคัญของทฤษฎีใหม่นี้ นอกจากนี้ยังทรงคำนึงถึงการระเหยของน้ำในสระหรืออ่างเก็บน้ำลึก 4 เมตร ของเกษตรกรด้วยว่า ในแต่ละวันที่ไม่มีฝนตกคาดว่าน้ำระเหยวันละ 1 ซม. ดังนั้น เมื่อเฉลี่ยว่าฝนไม่ตกปีละ 300 วันนั้น ระดับน้ำในสระจะลดลง 3 เมตร จึงควรมี การเติมน้ำให้เพียงพอ เนื่องจากน้ำเหลือก้นสระเพียง 1 เมตร เท่านั้น ดังนั้น การมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อคอยเติมน้ำในสระเล็ก จึงเปรียบเสมือนมีแท้งค์น้ำใหญ่ ๆ ที่มีน้ำสำรองที่จะเติมน้ำอ่างเล็กให้เต็มอยู่เสมอ จะทำให้แนวทางปฏิบัติสมบูรณ์ขึ้น กรณีของการทดลองที่วัดมงคลชัยพัฒนา ทรงเสนอวิธีการดังนี้ จากภาพตุ่มน้ำเล็กคือสระน้ำที่ราษฎรขุดขึ้นตามทฤษฎีใหม่นี้ เมื่อเกิดช่วงขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ราษฎรก็สามารถ สูบน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ และหากน้ำในสระไม่เพียงพอก็ขอรับน้ำจากอ่างห้วยหินขาว ซึ่งได้ทำระบบส่งน้ำเชื่อมต่อลงมายังสระน้ำที่ได้ขุดไว้ในแต่ละแปลงซึ่งจะช่วยให้สามารถมีน้ำใช้ตลอดปี ในกรณีราษฎรใช้น้ำกันมากอ่างห้วยหินขาวก็อาจมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ หากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักสมบูรณ์แล้ว ก็ใช้วิธีการสูบน้ำจากป่าสักมาพักในหนองน้ำใดหนองน้ำหนึ่ง แล้วสูบต่อลงมาในอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาว ก็จะช่วยให้มี ปริมาณน้ำใช้มากพอตลอดปี ทฤษฎีใหม่จึงเป็นแนวพระราชดำริใหม่ ที่ได้รับการพิสูจน์และยอมรับกันอย่างกว้างขวางในหมู่เกษตรกรไทยแล้วว่า พระราชดำริของพระองค์เกิดขึ้นด้วยพระอัจฉริภาพสูงส่งที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริงความสมบูรณ์พูนสุขแห่งราชอาณาจักรไทยอุบัติขึ้นในครั้งนี้ ด้วยพระปรีชาสามารถอันเฉียบแหลมของพระมหากษัตริย์ไทยผู้มิเคยทรงหยุดนิ่งที่จะระดมสรรพกำลังทั้งปวงเพื่อความผาสุขของชาวไทย

การเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ

ประเทศไทย เป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้นฝนตกค่อนข้างชุก มีค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ ประมาณ 1,500 มิลลิเมตร และมีฤดูฝนนานประมาณ 5 - 6 เดือน ในอดีตเมื่อป่าไม้ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ น้ำฝนส่วนหนึ่งจะถูกดูด ซับไว้ในป่า ส่วนหนึ่งจะไหลลงสู่ใต้ดินอีกส่วนหนึ่งจะถูกเก็บกักไว้ตามที่ลุ่ม เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง ตามธรรมชาติ ส่วนที่เหลือจะระเหยสู่บรรยากาศและไหลลงสู่ลำห้วย ลำธาร แม่น้ำ และออกสู่ทะเล น้ำที่ถูกเก็บกักไว้ในป่า และในแหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้จะค่อยๆ ไหลซึมซับออกมาทีละน้อยตลอดปี ส่วนที่ขังอยู่ในหนอง คลอง บึง และแอ่งน้ำต่างๆ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในช่วงฤดูแล้ง ต่อมาระบบนิเวศน์เปลี่ยนไปป่าไม้ถูกทำลายถูกถากถางเพื่อการเกษตรและกิจกรรมต่างๆ ห้วย หนอง คลอง บึงสาธารณะจะตื้นเขิน และถูกบุกรุกเข้าถือครองกรรมสิทธิ์ บริเวณทางระบายน้ำออกสู่ทะเลตามธรรมชาติถูกใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างอาคาร ถนน ทางรถไฟ บ่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา และอื่น ๆ เมื่อฝนตกลงมาน้ำไหลสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีที่เก็บกัก แต่เมื่อกระทบสิ่งกีดขวางก็ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันอย่างรุนแรง เมื่อน้ำท่าไหลลงทะเลหมดและไม่มีน้ำจากป่ามาเติม แหล่งน้ำตามธรรมชาติก็เหือดแห้ง จึงทำให้เกิดแห้งแล้งและขาดน้ำอุปโภคบริโภคอยู่เสมอ

เกษตรกรที่อยู่ในสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะชาวนาที่อยู่ในเขตใช้น้ำฝนจึงได้รับความเดือดร้อน ผลิตผลเสียหายเป็นประจำและไม่พอเลี้ยงชีพ ต้องอพยพทิ้งถิ่นฐานไปหารายได้ในเมืองใหญ่ ๆ และเกิดปัญหาด้านสังคมตามมา นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเมื่อปีพุทธศักราช 2489 เป็นต้นมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จแปรพระราชฐานและเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมพสกนิกรทั่วราชอาณาจักรเรื่อยมา พระองค์ได้ประสบกับสภาพดิน ฟ้า อากาศและภูมิประเทศในภูมิภาคต่างๆ และทอดพระเนตรความทุกข์ยากแร้นแค้น ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการดำรงชีวิตของประชาชนทั่วประเทศด้วยพระองค์เอง ทรงตระหนักถึงปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้อย่างถ่องแท้ และได้ทรงมีพระราชดำริริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไข เพื่อบรรเทาปัญหาเหล่านี้โดยเฉพาะ โครงการอนุรักษ์ ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดต่างๆ จำนวนมาก สำหรับในด้านการพัฒนาอาชีพของประชาชนในชนบท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานแนวทางครั้งสำคัญเมื่อปี พ.ศ.2532 ซึ่งต่อมาประชาราษฎร์ได้รู้จักกันอย่างดีในนามเกษตร "ทฤษฎีใหม่" แนวทางการพัฒนาชีวิตและอาชีพตามแนวทฤษฎีใหม่นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทาน พระราชดำริไว้ 3 ขั้นคือ ขั้นที่ 1 การผลิต ขั้นที่ 2 การรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ และขั้นที่ 3 การร่วมมือกับแหล่งเงิน (ธนาคาร) และกับแหล่งพลังงาน

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับแนวคิดทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์

ในเชิงทฤษฏี สามารถแยกองค์ประกอบทั้งสามของเศรษฐกิจพอเพียงออกเป็น ๒ กลุ่ม ได้แก่ ส่วนที่สร้างให้เกิดความยั่งยืนของการใช้ทรัพยากร ในสถานการณ์ที่ปราศจากผลกระทบภายนอก (Deterministic optimality) ซึ่งประกอบด้วยความพอประมาณ และความมีเหตุผล และส่วนที่เป็นองค์ประกอบที่เสริมประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรให้พร้อมต่อการรองรับ ผลกระทบจากภายนอก ซึ่งมีความไม่แน่นอน (Stochastic optimality) อันได้แก่ การมีภูมิคุ้มกันในตัว แนวคิดเรื่องความพอประมาณ มี ๒ แนวทางหลัก ได้แก่ ความพอประมาณ โดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์ทางสังคมที่ถูกกําหนด และความพอประมาณ โดยเปรียบเทียบกับศักยภาพของตนเอง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวมีความหมายครอบคลุมกระบวนการ Optimisation ภายใต้ข้อจํากัดต่างๆ หรือใกล้เคียงกับแนวคิดเรื่อง bounded rationality นอกจากนี้ ความพอประมาณยังสามารถนํามาซึ่งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน หรือการสร้างประสิทธิภาพในเชิงพลวัตรได้ด้วย สําหรับความมีเหตุมีผลในบริบทของ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีความเป็น เอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องด้วยมีปัจจัยในเรื่องคุณธรรมกํากับควบคู่กับการดําเนินทางสายกลาง ในขณะที่คําจํากัดความทางทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับความมีเหตุมีผล เช่น Rationality หรือ rational expectation และ common knowledge ไม่สามารถอธิบายความมีเหตุมีผลในบริบทของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนแนวคิดเรื่อง ระบบภูมิคุ้มกันในตัวของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกันโดยรวม กล่าวคือ มีลักษณะในการบริหารความเสี่ยง การกระจายความเสี่ยง การป้องกันความเสี่ยง การลดความเสี่ยง และการสร้างกลไกที่ก่อให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า ยังมีข้อแตกต่างในด้านของหลักการตัดสินใจ ซึ่งทางสายกลางเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจได้แทนหลัก Optimization และอาจจะ เหมาะสมกว่าภายใต้ข้อจํากัดของความไม่แน่นอนจากอนาคต สําหรับเงื่อนไข ๒ ประการ คือ ความรู้และคุณธรรมในระบบเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วยความรู้ ๓ ด้านคือ รอบรู้ในวิชาการต่างๆ รอบคอบในการเชื่อมโยง และระมัดระวังในการนําความรู้ไปใช้ ส่วนเงื่อนไขคุณธรรมที่ต้องมีคุณธรรมในมิติของจิตใจ และ การกระทําที่เน้นความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน และความเพียร ยังจําเป็นต้องวิเคราะห์เพิ่มเติมว่ าเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์มีความคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันอย่างไร นอกจากนี้แล้ว ยังต้องมีการค้นคว้าเพิ่มเติมถึง บทบาทของรัฐ บทบาทของกลไกตลาด และบทบาทขององค์กรและชุมชนต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่อ้างถึงในการเปรียบเทียบข้างต้นนั้น ล้วนมีความสําคัญอย่างยิ่งต่อการอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐศาสตร์ จนทําให้นักเศรษฐศาสตร์ผู้บุกเบิกทฤษฎีดังกล่าวเหล่านั้นได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นจึงถือได้ว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงครอบคลุมถึงหลักการสําคัญที่เป็นหัวใจของวิชาเศรษฐศาสตร์ นอกจากนี้แล้ว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนหรือข้อจํากัดของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มีอยู่ในขณะนี้หลายข้อ แม้ว่าในขณะนี้ อาจจะยังไม่สามารถจะสร้างทฤษฎีที่อธิบายแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างสมบูรณ์ แต่สามารถชี้ถึง ทิศทางของงานวิจัยที่ควรมีขึ้นเพื่อบุกเบิกสร้างเสริมองค์ความรู้ให้แก่วิชาการเศรษฐศาสตร์ต่อไป

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผลรวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี สมัยก่อน เกษตรกรจะทำการผลิตเพื่อการบริโภค โดยอาศัยธรรมชาติตามสภาพแวดล้อมมีการปลูกพืชหลากหลายชนิดคละกัน ทั้งพืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชสมุนไพร พืชใช้สอย ในลักษณะของสวนผสม พืชเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์ทางนิเวศวิทยา ซึ่งกันและกัน มีความต้องการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม กับการเจริญเติมโตแตกต่างกันไป เกี่ยวกับแสงแดด อุณหภูมิความชื้น ดิน เป็นต้น เช่นพืชทรงพุ่มขนาดเล็กต้องการแสงน้อย อยู่ใต้พืชที่ทรงพุ่มใหญ่ การทำลายของโลกแมลงที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นการควบคุมพืชบางชนิดให้มีปริมาณเหมาะสมในระบบนิเวศของพืช พืชที่ขึ้นปะปนหรือคละกันมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการระบาดของโรดแมลงพืชชนิดอื่นได้ ทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ต่อมามีการพัฒนาเป็นเกษตรเพื่อบริโภคและจำหน่ายจนถึงปัจจุบัน เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศมุ่งเพิ่มรายได้จึงทำการเกษตรเพื่อจำหน่ายทำให้ต้องใช้ทรัพยากรจากภายนอกมากขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นกอปรกับเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ต้องหันกลับมาทำการเกษตร เพื่อบริโภคและจำหน่ายในลักษณะทางเศรษฐกิจพอเพียงอีกครั้ง เศรษฐกิจพอเพียง อาจขยายความได้ว่าเป็นการดำเนินชีวิตหรือวิถีชีวิตของคนไทยให้อยู่อย่างพอประมาณตน เดินทางสายกลาง มีความพอดีและพอเพียง กับตนเอง ครอบครัว และชุมชน โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของ สิ่งสำคัญต้องรู้จักการพึ่งพาตนเองโดยไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และรู้จักการนำทรัพยากรที่เรามีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น รู้จักการนำปัจจัยพื้นฐานมาใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขความสบาย และพอเพียงกับตนเอง

หลักพิจารณาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

มีหลักพิจารณา 5 ส่วน ดังนี้
• กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สมารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัย และวิกฤต เพื่อ ความมั่นคงและ ความยั่งยืนของการพัฒนา • คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน • คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ พร้อม ๆ กัน ดังนี้
• หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
• หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
• หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
• เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
• ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
• ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
• แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี

" ถ้าไม่มี เศรษฐกิจพอเพียง เวลาไฟดับ …จะพังหมด จะทำอย่างไร. ที่ที่ต้องใช้ไฟฟ้าก็ต้องแย่ไป… หากมี เศรษฐกิจพอเพียง แบบไม่เต็มที่ถ้าเรามีเครื่องปั่นไฟ ก็ให้ปั่นไฟหรือถ้าขั้นโบราณกว่า มืดก็จุดเทียนคือมีทางที่จะแก้ปัญหาเสมอ.… ฉะนั้น เศรษฐกิจพอเพียง นี้ ก็มีเป็นขั้น ๆแต่จะบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียง นี้ให้พอเพียงเฉพาะตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน…… พอเพียงในทฤษฎีหลวงนี้ คือให้สามารถที่จะดำเนินงานได้ "
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนพรรษา 23 ธันวาคม 2542

ความหมายเชิงทฤษฎี

ความหมายของ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประมวลและกลั่นกรองโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ โดยสามารถจําแนกองค์ประกอบของหลักปรัชญาฯ เป็น ๕ ส่วน ได้แก่ กรอบแนวคิด คุณลักษณะ คํานิยาม เงื่อนไข และแนวทางปฏิบัติรวมถึงผลที่คาดว่าจะได้รับจากการนําหลักปรัชญาฯ ไปปฏิบัติ กรอบแนวคิด ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดํารงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น (Normative) โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทยที่มองโลกเชิงระบบ ที่มีลักษณะพลวัตรและมุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤต เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา ในขณะที่คุณลักษณะของเศรษฐกิจพอเพียง คือสามารถนํามาประยุกต์ใช้กับการปฎิบัติตนได้ในทุกระดับและตลอดเวลา โดยมีแนวคิดทางสายกลาง เป็นหลักแนวคิดที่สําคัญ คํานิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย ๓ คุณลักษณะ คือ ความพอประมาณที่ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป ในมิติต่างๆ ของการกระทําความมีเหตุมีผลโดยพิจารณาจากเหตุ ปัจจัย และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทํานั้นๆ อย่างรอบคอบ และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเพื่อพร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆทั้งด้านบวกและด้านลบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เงื่อนไข การตัดสินใจในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งเงื่อนไขความรู้ควบคู่กับคุณธรรม กล่าวคือ เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ อย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนําความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกันเพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในการนําแผนไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ และเงื่อนไข คุณธรรมที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน ความเพียร ใช้สติปัญญาและรอบคอบในการดําเนินชีวิต ความพอเพียง เป็นทั้งแนวทางปฏิบัติหรือวิธีการ (Means) และผลของการกระทํา (Ends) ที่คาดว่าจะได้รับ โดยคํานึงถึงความสมดุล บนพื้นฐานของความพอประมาณ อย่างมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม ซึ่งจะนําไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและการพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี การจําแนกวิเคราะห์ดังกล่าวทําให้สรุปได้ว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีองค์ประกอบด้านต่างๆ ที่สามารถนําไปใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนากรอบทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ได้ นอกจากนี้แล้วยังชี้ให้เห็นว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงครอบคลุมความหมายที่กว้าง โดยเป็นแนวทางในการดําเนินชีวิตของประชาชนในทุกระดับ สามารถนําไปประยุกต์ใช้ในหลายๆ ด้าน ไม่จํากัดเฉพาะ ภาคเกษตรหรือภาคชนบทเท่านั้น

นัยสำคัญของแนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง

ประการแรก เป็นระบบเศรษฐกิจที่ยึดถือหลักการที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” โดยมุ่งเน้นการผลิตพืชผลให้เพียงพอ กับความต้องการบริโภคในครัวเรือนเป็นอันดับแรก เมื่อเหลือพอจากการบริโภคแล้ว จึงคำนึงถึงการผลิตเพื่อการค้าเป็นอันดับรองลงมา ผลผลิตส่วนเกินที่ออกสู่ตลาดก็จะเป็นกำไรของเกษตรกร ในสภาพการณ์เช่นนี้เกษตรกรจะกลายสถานะเป็นผู้กำหนดหรือเป็นผู้กระทำต่อตลาด แทนที่ว่าตลาดจะเป็นตัวกระทำ หรือเป็นตัวกำหนดเกษตรกรดังเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และหลักใหญ่สำคัญยิ่ง คือ การลดค่าใช้จ่าย โดยการสร้างสิ่งอุปโภคบริโภคในที่ดินของตนเอง เช่น ข้าว น้ำ ปลา ไก่ ไม้ผล พืชผัก ฯลฯ ประการที่สอง เศรษฐกิจแบบพอเพียงให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มของชาวบ้าน ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านหรือองค์กรชาวบ้านจะทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้หลากหลาย ครอบคลุมทั้งการเกษตรแบบผสมผสานหัตถกรรมการแปรรูปอาหาร การทำธุรกิจค้าขาย และการท่องเที่ยวระดับชุมชน ฯลฯ เมื่อองค์กรชาวบ้านเหล่านี้ได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็ง และมีเครือข่ายที่กว้างขวางมากขึ้นแล้ว เกษตรกรทั้งหมดในชุมชนก็จะได้รับการดูแลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้รับการแก้ไขปัญหาในทุก ๆ ด้าน เมื่อเป็นเช่นนี้ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็จะสามารถเติบโตไปได้อย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจสามารถขยายตัวไปพร้อม ๆ กับสภาวการณ์ด้านการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น ประการที่สาม เศรษฐกิจแบบพอเพียงตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีความเมตตา ความเอื้ออาทร และความสามัคคีของสมาชิกในชุมชนในการร่วมแรงร่วมใจ เพื่อประกอบอาชีพต่าง ๆ ให้บรรลุผลสำเร็จ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจึงมิได้หมายถึงรายได้แต่เพียงมิติเดียว หากแต่ยังรวมถึงประโยชน์ในมิติอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ การสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันครอบครัว สถาบันชุมชน ความสามารถในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของชุมชนบนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งการรักษาไว้ ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของไทยให้คงอยู่ตลอดไป

การปฏิบัติตนตามแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

1. ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการดำรงชีพอย่างจริงจัง ดังพระราชดำรัสว่า “...ความเป็นอยู่ที่ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ต้องประหยัดไปในทางที่ถูกต้อง...”2. ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง สุจริต แม้จะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนในการดำรงชีพก็ตาม ดังพระราชดำรัสที่ว่า ...ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากการประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพ ชอบเป็นหลักสำคัญ...”3. ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์ และแข่งขันกันในทางการค้าขาย ประกอบอาชีพแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรงดังอดีต ซึ่งมีพระราชดำรัสเรื่องนี้ว่า “...ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึงความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรมทั้งในเจตนา และการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น...”4. ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยากครั้งนี้ โดยต้องขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้เกิดมีรายได้เพิ่มพูนขึ้น จนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ พระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ให้ความชัดเจนว่า “...การที่ต้องการให้ทุกคนพยายามที่จะหาความรู้ และสร้างตนเองให้มั่นคงนี้เพื่อตนเอง เพื่อที่จะให้ตัวเองมีความเป็นอยู่ที่ก้าวหน้า ที่มีความสุข พอมีพอกิน เป็นขั้นหนึ่งและขั้นต่อไป ก็คือให้มีเกียรติว่ายืนได้ด้วยตนเอง...”5. ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดีลดละสิ่งชั่วให้หมดสิ้นไป ทั้งนี้ด้วยสังคมไทยที่ล่มสลายลงในครั้งนี้ เพราะยังมีบุคคลจำนวนมิใช่น้อยที่ดำเนินการโดยปราศจากละอายต่อแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราโชวาท ว่า “...พยายามไม่ก่อความชั่วให้เป็นเครื่องทำลายตัว ทำลายผู้อื่น พยายามลดพยายามละความชั่วที่ตัวเองมีอยู่ พยายามก่อความดีให้แก่ตัวอยู่เสมอ พยายามรักษาและเพิ่มพูนความดีที่มีอยู่นั้น ให้งอกงามสมบูรณ์ขึ้น...”

หลักการพึ่งตนเอง

ด้านจิตใจ ทำตนให้เป็นที่พึ่งตนเอง มีจิตสำนึกที่ดี สร้างสรรให้ตนเองและชาติโดยรวม มีจิตใจเอื้ออาทร ประนีประนอม เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งด้านสังคม แต่ละชุมชนต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เชื่อมโยงกัน เป็นเครือข่ายชุมชนที่แข็งแรง เป็นอิสระด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ใช้และจัดการอย่างฉลาด พร้อมทั้งหาทางเพิ่มมูลค่า โดยให้ยึดอยู่บนหลักการของความยั่งยืนด้านเทคโนโลยี จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่มีทั้งดีและไม่ดี จึงต้องแยกแยะบนพื้นฐานของภูมิปัญญาชาวบ้านและ เลือกใช้เฉพาะที่สอดคล้องกับความต้องการ และสภาพแวดล้อม และควรพัฒนาเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาของเราเองด้านเศรษฐกิจ แต่เดิมนักพัฒนามักมุ่งที่การเพิ่มรายได้ และไม่มีการมุ่งที่การลดรายจ่าย ในเวลาเช่นนี้จะต้องปรับทิศทางใหม่ คือ จะต้องมุ่งลดรายจ่ายก่อน เป็นสำคัญ และยึดหลักพออยู่ พอกิน พอใช้

เศรษฐกิจพอเพียง

- เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง ความสามารถของชุมชนเมือง รัฐ ประเทศ หรือภูมิภาคหนึ่ง ๆ ในการผลิตสินค้าและบริการทุกชนิดเพื่อเลี้ยงสังคมนั้น ๆ ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยต่างๆ ที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของ- เศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลนั้น คือ ความสามารถในการดำรงชีวิตได้อย่างไม่เดือดร้อน มีความเป็นอยู่อย่างประมาณตน ตามฐานะ ตามอัตภาพ และที่สำคัญไม่หลงใหลไปตามกระแสของวัตถุนิยม มีอิสรภาพ เสรีภาพ ไม่พันธนาการอยู่กับสิ่งใด- หากกล่าวโดยสรุป คือ หันกลับมายึดเส้นทางสายกลางในการดำรงชีวิต

ความหมายเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชกระแสรับสั่งแนะแนวทางการดำเนินชีวิต โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง นับเนื่องมาจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 1 ขวบปีพอดี วิกฤตการณ์เศรษฐกิจของประเทศก็ยังคงอยู่ สมควรที่พวกเราได้ทบทวนพระราชกระแสกันอีกสักครั้ง เพื่อให้พวกเราได้ “ใจดี สู้เสือ” กันต่อไป เพื่อนำให้ตัวเราและชาติบ้านเมืองได้ผ่านมรสุมร้ายที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ด้วยสติที่มั่นคง ปัญญาที่เฉียบแหลม และด้วยความรู้ ความเข้าใจ อย่างลึกซึ้ง เพื่อปรับวิถีชีวิตของพวกเราชาวไทยให้ยึดมั่นแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างและยึดมั่นวิถีชีวิตไทย อันนำมาสู่พวกเราชาวไทยทุกหมู่เหล่าต่อไปชั่วกาลนาน

วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2551

ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดสารเคมี

ศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสถานที่ที่จัดสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) ระดับชาติ ครั้งที่ 28 ในวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 โดยเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีทุกชนิด เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเทคโนโลยีที่เหมาะสม ภูมิปัญญาชาวบ้าน ข้อปฏิบัติที่ดี (best practice) จากการปฏิบัติจริง (knowledge management) มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทดลองปฏิบัติ เพื่อขยายผลสู่เกษตรกร และผู้สนใจที่ได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ หรือพัฒนาอาชีพได้ดียิ่งขึ้น

เจาะลึกศิลปะการขาย

1. ก่อนขายสินค้าใดๆ ก็ตาม ผู้ขายต้องมีความรู้เกี่ยวกับสินค้านั้นๆ เพื่อให้ข้อมูลแก่ลูกค้า

2. ใช้คำพูดที่สุภาพ เป็นธรรมชาติ หลีกเลี่ยงคำที่เข้าใจยาก

3. หมั่นเสนอแนะถึงประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับจากสินค้า

4. พยายามตอบข้อซักถามจากลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าได้ข้อมูลที่เป็นจริง

5. อดทนต่อสิ่งต่างๆ ที่มักจะเกิดขึ้นระหว่างการสนทนา เช่น คำตำหนิ การปฏิเสธ

6. สร้างสายสัมพันธ์ระยะยาว เพื่อให้ลูกค้าเก่าเกิดการซื้อซ้ำ และบอกต่อไปยังเพื่อนๆ

สำคัญมาก เรื่องการตลาด

เรื่องการตลาดสำคัญที่สุด อาจารย์มนัส ภูมิวัฒน์ ให้ข้อมูลว่า

งานขายเป็นงานที่ต้องใช้ศิลปะเพื่อจูงใจลูกค้า ดังนั้น พนักงานขายจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ในการเสนอขาย เพื่อเพิ่มยอดขายและขยายฐานลูกค้า

ผู้ขายสินค้าจะต้องคำนึงถึงปัจจัยที่จะทำให้ยอดขายเพิ่ม ดังนี้

1. ใครเป็นลูกค้าของเรา

2. รู้ความต้องการของลูกค้า

3. จะขายสินค้าที่ไหน

4. ขายราคาเท่าไร

5. โฆษณาอย่างไร

6. จูงใจลูกค้าด้วยเหตุผล

สัตว์น้ำแบบอินทรีย์

อาจารย์วีระศักดิ์ ซัวต๋อ ให้ข้อมูลไว้ในเอกสารว่า การเลี้ยงสัตว์น้ำแบบอินทรีย์เป็นแนวทางในการพัฒนาการเลี้ยงเพื่อให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เนื่องจากสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลามีโปรตีนสูง สามารถย่อยได้ง่าย ดังนั้น แนวทางดังกล่าวควรคำนึงถึงการจัดการด้านกระบวนการเลี้ยง และควบคุมระบบต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะคุณภาพน้ำ เนื่องจากปลาหรือสัตว์น้ำจำเป็นต้องได้รับอาหารทุกวัน ก็ย่อมมีการขับถ่ายของเสีย และมีการหมักหมมบริเวณพื้นก้นบ่อ ดังนั้น จำเป็นต้องใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อนำมาใช้ในบ่อปลา เป็นการจัดการของเสียในบ่อปลา และทำให้คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่สัตว์สามารถเจริญเติบโตได้ นอกจากนี้ การถ่ายเทน้ำเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน น้ำที่ถ่ายเทควรนำไปใช้ประโยชน์ต่อ นอกจากนี้ รูปแบบการเลี้ยงสัตว์น้ำในปัจจุบันมีความหลากหลายมาก เช่น การเลี้ยงปลาระบบปิด สามารถเลี้ยงได้หนาแน่น เนื่องจากมีการจัดการระบบการเลี้ยงที่ดี ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย และที่สำคัญปลอดโรค ซึ่งถือเป็นแนวทางในการพัฒนาด้านการเลี้ยงปลาในอนาคต

ไก่ในโรงเรือนเปิด-ปิด

อาจารย์ปริศนา มณีศรี แนะนำว่า การเลี้ยงไก่พื้นเมืองในโรงเรือนระบบเปิด (Open House) หรือโรงเรือนแบบกึ่งขังกึ่งปล่อย หรือแบบปล่อยลานล้อมด้วยลวดตาข่ายไม่ให้ไก่เพ่นพ่าน ในพื้นที่ 30 ตารางเมตร เลี้ยงไก่ได้ 60 ตัว เป็นพันธุ์ไก่พื้นเมืองของไทย ขนสีดำ สีน้ำตาล สีเทา สีหมากสุก สีลาย สีขาว สีเหลือง มีตุ้มหูสีขาวและสีแดง อาหาร ให้ข้าวเปลือกและเพาะปลวกให้กิน ให้น้ำสะอาด 10 ลิตร ผสมน้ำจุลินทรีย์ (นม) 30 ซีซี ให้กินเพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค ทำให้ไก่แข็งแรง และมูลที่ถ่ายออกมาปราศจากกลิ่น กำจัดกลิ่นพื้นเล้าไก่ โดยราดด้วยน้ำจุลินทรีย์ (นม) 250 ซีซี ผสมน้ำ 10 ลิตร เสริมอาหาร พืชสมุนไพร โดยตัดให้ไก่พื้นเมืองกินสดๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มโรคไก่จะไม่เป็นโรค และเพิ่มวิตามิน เช่น ฟ้าทลายโจร ทองพันชั่ง เสลดพังพอน ใบกะเพรา ใบโหระพา และว่านหางจระเข้ ฯลฯ ดอกดาวเรืองและดอกเข็มแดง มีเม็ดสี ให้ไก่พื้นเมืองกินสด ช่วยเพิ่มสีในไข่แดง

การเลี้ยงไก่ไข่ในโรงเรือนระบบปิด "อีแว็ป" (Evaporative Cooling System) โรงเรือน กว้าง 3 เมตร ยาว 4 เมตร เลี้ยงไก่ไข่บนกรงตับได้ 50 ตัว (ถ้าเลี้ยงไก่ไข่แบบขังรวมหรือปล่อยพื้นสามารถจุไก่ได้ถึง 150 ตัว) เป็นไก่ไข่ลูกผสมเพื่อการค้า คือพันธุ์ฮับบาร์ด ให้อาหารผสมสำเร็จรูป ให้ไก่กินน้ำ ผสม EM สด อัตรา 1 ช้อนโต๊ะ กับน้ำ 200 ลิตร เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค ไก่แข็งแรงถ่ายมูลไม่มีกลิ่นเหม็น พืชสมุนไพร ตากแห้ง ป่นละเอียด คลุกเคล้าในอาหารให้ไก่กิน เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค ได้แก่ ฟ้าทลายโจร ทองพันชั่ง เสลดพังพอน ใบกะเพรา ใบโหระพา และว่านหางจระเข้ ส่วนดอกดาวเรืองและดอกเข็มแดงตากแห้งป่นละเอียดผสมในอาหารให้ไก่ไข่กิน ทำให้ไข่แดงมีสีแดงเข้มขึ้น

หากไก่เป็นโรคทางเดินอาหาร ใช้ EM สด 1 ช้อนโต๊ะ ผสมในอาหารให้ไก่กิน ใช้ EM ราดพื้นเล้าสามารถดับกลิ่นได้

ไก่ในโรงเรือนเปิด-ปิด

อาจารย์ปริศนา มณีศรี แนะนำว่า การเลี้ยงไก่พื้นเมืองในโรงเรือนระบบเปิด (Open House) หรือโรงเรือนแบบกึ่งขังกึ่งปล่อย หรือแบบปล่อยลานล้อมด้วยลวดตาข่ายไม่ให้ไก่เพ่นพ่าน ในพื้นที่ 30 ตารางเมตร เลี้ยงไก่ได้ 60 ตัว เป็นพันธุ์ไก่พื้นเมืองของไทย ขนสีดำ สีน้ำตาล สีเทา สีหมากสุก สีลาย สีขาว สีเหลือง มีตุ้มหูสีขาวและสีแดง อาหาร ให้ข้าวเปลือกและเพาะปลวกให้กิน ให้น้ำสะอาด 10 ลิตร ผสมน้ำจุลินทรีย์ (นม) 30 ซีซี ให้กินเพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค ทำให้ไก่แข็งแรง และมูลที่ถ่ายออกมาปราศจากกลิ่น กำจัดกลิ่นพื้นเล้าไก่ โดยราดด้วยน้ำจุลินทรีย์ (นม) 250 ซีซี ผสมน้ำ 10 ลิตร เสริมอาหาร พืชสมุนไพร โดยตัดให้ไก่พื้นเมืองกินสดๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มโรคไก่จะไม่เป็นโรค และเพิ่มวิตามิน เช่น ฟ้าทลายโจร ทองพันชั่ง เสลดพังพอน ใบกะเพรา ใบโหระพา และว่านหางจระเข้ ฯลฯ ดอกดาวเรืองและดอกเข็มแดง มีเม็ดสี ให้ไก่พื้นเมืองกินสด ช่วยเพิ่มสีในไข่แดง

หมูหลุม สุดยอดจริงๆ

ใครที่สนใจหมูหลุม ต้องอ่านตรงนี้

อาจารย์สมเกียรติ นิติพงศ์สุวรรณ อธิบายไว้ว่า การเลี้ยงหมูหลุม นอกจากจะทำกำไรให้แก่ผู้เลี้ยง เนื่องจากสามารถลดต้นทุนค่าอาหารได้มากแล้ว ยังทำให้ภาระในการเลี้ยงลดลง ไม่ต้องกวาดพื้นกำจัดขี้หมู ไม่มีกลิ่น ไม่เฉอะแฉะ และไม่มีแมลงวันตอม

พื้นที่คอกหมูหลุม ขุดดินออกไปทั้งหมด ลึกประมาณ 90 เซนติเมตร แล้วผสมวัสดุเหล่านี้ใส่แทนดินที่ขุดออกไป ขี้เลื่อยหรือแกลบหยาบ 100 ส่วน ดินที่ขุดออก 10 ส่วน เกลือ 0.5 ส่วน โดยผสมขี้เลื่อย ดิน และเกลือ แล้วใช้จุลินทรีย์จากน้ำหมักพืช หรือจุลินทรีย์จากการหมักนมราดลงพื้นชั้นที่ 1 เมื่อมีความลึก 30 เซนติเมตร โรยดินชีวภาพเชื้อราขาวบางๆ แล้วทำเหมือนชั้นแรก จนครบ 3 ชั้น แล้วโรยแกลบดิบปิดหน้า 1 ฝ่ามือ แล้วปล่อยหมูลงไป หลังจากนั้นใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 10 ลิตร ราดลงพื้นเป็นครั้งคราว เพื่อให้เกิดการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ เมื่อเก่าหากต้องการนำไปทำปุ๋ยก็สามารถนำไปใช้ได้ แต่ต้องผสมทำพื้นใหม่ พื้นคอกไม่ต้องทำความสะอาด ไม่ต้องกวาด หมูจะขุดคุ้ยและกินจุลินทรีย์ จะมีบรรยากาศที่สบายด้วยระบบการถ่ายเทอากาศที่เป็นธรรมชาติ

อาหารเสริมที่หมักจากพืชสีเขียว

วัตถุดิบ ผลไม้ หรือพืชสีเขียว 100 กิโลกรัม น้ำตาลทรายแดง 4 กิโลกรัม โดยนำผลไม้หรือพืชสีเขียวที่ได้มาสับให้ละเอียด ผสมน้ำตาลทรายแดงคลุกให้เข้ากัน บรรจุในถังหมักให้มีพื้นที่ว่างเหลือ 1/3 ของถัง ปิดด้วยกระดาษที่ถ่ายเทอากาศได้ มัดเชือกหมักทิ้งไว้ 7 วัน แล้วจึงนำไปใช้

วิธีการใช้

สามารถนำน้ำที่ได้จากการหมักไปผสมน้ำให้หมูดื่ม ส่วนเศษพืชที่หมักนำไปให้หมูกินได้ หรืออาจนำไปผสมรำอ่อนและอาหารสัตว์โดยใช้หัวอาหารสำเร็จรูป : รำอ่อน : อาหารหมัก เท่ากับ 2 : 2 : 5 โดยให้เช้า-เย็น

ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดประโยชน์สูง

ได้รับการอธิบายจากอาจารย์จักรกฤษณ์ว่า ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดผลิตจากอินทรียวัตถุโดยการใช้ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายดีแล้ว มีธาตุอาหารพืชมาบดอัด แล้วผึ่งหรืออบให้แห้ง ควรมีความชื้นประมาณ 10-12 เปอร์เซ็นต์ เพื่อไม่ให้เกิดเชื้อรา เก็บในภาชนะที่แห้งและปิดสนิทจะเก็บได้นานโดยไม่มีการสูญเสียคุณค่าของปุ๋ย

คุณลักษณะที่ดีของปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด มีธาตุอาหารที่จำเป็นของพืช ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม สามารถนำเอาวัสดุเหลือใช้มาอัดเม็ดใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ย เป็นการกำจัดปัญหามลพิษใช้ง่าย และสะดวก ใช้ได้ทั้งพืชผัก พืชไร่ ไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ ช่วยลดต้นทุนการผลิต

ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ได้รับความนิยม

อาจารย์จักรกฤษณ์ แนะนำไว้ดังนี้
ปุ๋ยน้ำชีวภาพ หมายถึง ปุ๋ยที่ประกอบไปด้วยจุลินทรีย์ที่มีชีวิต สามารถสร้างธาตุอาหาร หรือช่วยให้ธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์กับพืช การทำปุ๋ยชีวภาพอาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น ปุ๋ยแห้ง ปุ๋ยน้ำ

การทำปุ๋ยน้ำชีวภาพสามารถทำได้ง่ายๆ โดยใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ (EM) กากน้ำตาล อย่างละ 2 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำสะอาด 1 ลิตร ในขวดพลาสติคมีฝาเกลียวปิดฝา เขย่าให้ละลายเข้ากันหมักไว้ 3-5 วัน สามารถนำมาใช้หรือขยายต่อโดยวิธีเดียวกันได้ 3 รุ่น

วิธีการใช้ ใช้ 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกากน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 10 ลิตร ฉีด พ่น รด ราด ให้ทั่ว

นอกจากนี้ สามารถใช้จุลินทรีย์แห้งหมักกับเศษอาหารในครัวเรือน เศษเปลือกผลไม้ให้ย่อยสลาย โดยหมักในถังที่มีฝาปิด ทิ้งไว้ 7-10 วัน จะได้น้ำสีเหลืองหรือส้มอยู่ข้างล่างของถัง นำมาใช้ได้เช่นเดียวกัน

การใช้ประโยชน์ ใช้ได้กับพืชทุกชนิด การปศุสัตว์ การประมง ใช้ในการรักษาความสะอาด กำจัดกลิ่น ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ผู้ใช้ ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และลดต้นทุนการผลิต

ขั้นตอนการปฏิบัติดูแลมะนาวนอกฤดู

1. หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตเดือนพฤษภาคมตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยคอก และฉีดพ่น ราด รด ด้วยน้ำชีวภาพจากหอยเชอรี่ หรือปลา
2. ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน ควรใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพจากหอยเชอรี่ หรือปลา ด้วยการฉีดพ่น ราด รด อย่างน้อยเดือนละครั้ง
3. เดือนตุลาคมให้ปุ๋ยฮอร์โมนผลไม้ 4-5 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 10 ลิตร ฉีด พ่น ราด รด เพื่อบำรุงให้ใบแก่เร็วขึ้น เร่งการสะสมอาหารช่วงกลางเดือน งดการให้น้ำเร่งการออกดอก
4. เดือนพฤศจิกายนมะนาวเริ่มออกดอก ควรฉีดพ่นด้วยน้ำส้มควันไม้ หรือสารชีวภาพป้องกันกำจัดแมลง
5. เดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ฉีด พ่น ราด รดน้ำชีวภาพจากหอยเชอรี่หรือปลา เพื่อบำรุงต้น และผลให้สมบูรณ์
6. เดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนเก็บเกี่ยวผลผลิต

สุดฮิต มะนาวในวงบ่อ

อาจารย์ประเดิม บุตรเพลิง อธิบายไว้ในเอกสาร ดังนี้การปลูกมะนาววงบ่อ เป็นการปลูกมะนาวในพื้นที่จำกัด เพื่อให้สามารถควบคุมปัจจัยการผลิตของมะนาวนอกฤดู และมีผลผลิตที่สามารถจำหน่ายได้ราคาสูงกว่าปกติ

ขั้นตอนการปลูกมะนาวในวงบ่อ
1. วางแผ่นรองและวงบ่อตามระยะในแผนผัง
2. ใส่ดินผสมในวงบ่อให้เต็ม หรือพูนขึ้นเล็กน้อย (12-15 ปี๊บ)
3. นำกิ่งมะนาวลงปลูกกลางวงบ่อ
4. ใช้หลักไม้ไผ่ปักแล้วผูกมัดติดกับต้นมะนาว กันลมพัดโยก
5. ใช้วัสดุคลุมโคนต้นจนทั่วบริเวณขอบวงบ่อ
6. รดน้ำให้ชุ่มทุกวันตลอดสัปดาห์ หลังจากนั้นจึงรดน้ำวันเว้นวัน

การป้องกันกำจัดศัตรูพืช

1. ปลูกพืชไล่แมลง เช่น ดาวเรือง2. ใช้น้ำสมุนไพรสกัดที่ได้จากการหมักพืชที่มีคุณสมบัติไล่และกำจัดแมลง เช่น ว่านน้ำ หนอนตายหยาก โล่ติ๊น ใยยาสูบ ขมิ้นชัน และเมล็ดสะเดา เป็นต้น นำส่วนผสมเหล่านี้มาหมักตามกระบวนการเทคโนโลยีชีวภาพนาน 3 เดือน แล้วจึงนำสารละลายที่ได้มาใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืช

การให้ปุ๋ย

1. ใช้ปุ๋ยอินทรีย์แห้ง (โบกาฉิ) น้ำสกัดชีวภาพที่ได้จากการหมักส่วนต่างๆ ของพืช เช่น หน่อไม้ หน่อกล้วย ผักบุ้ง กล้วยน้ำว้า มะละกอ และฟักทอง หมักทิ้งไว้นาน 3 เดือน นำสารละลายที่ได้มาใช้ประโยชน์โดยละลายน้ำรด หรือฉีดพ่นให้แก่พืชผัก
2. ปุ๋ยอินทรีย์ต่างๆ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เป็นต้น

พืชผักอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี

เป็นการปลูกผักแบบอินทรีย์ ไม่มีการใช้สารเคมีที่เป็นพิษ เช่น ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ในทุกขั้นตอนของการปลูกพืช ตั้งแต่เตรียมดิน การปฏิบัติดูแลรักษา จนถึงการเก็บเกี่ยวการเตรียมดิน ยกแปลงปลูกตากดินเพื่อกำจัดโรคและแมลงในดิน หลังจากนั้นคลุกเคล้าดินปลูกด้วยอินทรียวัตถุต่างๆ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ตลอดจนใช้น้ำหมักชีวภาพ หรือสารละลาย อีเอ็ม (เชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ) รดลงดินเพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์แก่ดิน โดยหมักดินทิ้งไว้ 7 วัน จึงปลูกพืชตามการปลูกผัก ปลูกได้ 3 วิธี คือเพาะกล้าแล้วย้ายปลูก หว่านแล้วถอนแยก และหยอดเป็นหลุมชนิดของพืชผัก เน้นการปลูกผักที่หลากหลาย มีทั้งผักกินใบ กินราก กินผล กินดอก ปลูกผสมผสานกันไป

การปลูกพืชไร่

มีพืชหลัก 3 ชนิดแปลงนี้ปลูกพืชไร่
พืชไร่ส่วนใหญ่ต้องใช้พื้นที่ในการปลูกค่อนข้างมาก แต่การปลูกพืชไร่ในพื้นที่ที่จำกัดนั้น ควรเลือกชนิดของพืชไร่ที่มีอายุสั้นเพื่อจะได้มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตรวดเร็ว เป็นพืชที่ตลาดต้องการ ถ้าขายก็จะได้ราคาดี ถ้าใช้รับประทานก็จะให้คุณค่าทางอาหารสูงแปลงพืชไร่ ในโครงการ "ตามรอยเท้าพ่อ สู่วิถีพอเพียง" จึงเลือกปลูกพืชไร่ที่เป็นหลัก 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพดหวาน ถั่วแระญี่ปุ่น และงา ซึ่งพืชทั้ง 3 ชนิดนี้มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 60-80 วัน เป็นที่ต้องการของตลาดมาก ขายได้ราคาดี และมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก อีกทั้งยังเป็นอาหารที่ช่วยบำรุงรักษาสุขภาพ สามารถป้องกันโรคได้หลายอย่างนอกจากปลูกพืชไร่หลัก 3 ชนิดแล้ว ยังได้ปลูกถั่วเขียวและแมงลักเป็นพืชเสริม เพื่อเก็บเมล็ดถั่วเขียวไว้ทำถั่วงอก ซึ่งเรามีเครื่องเพาะถั่วงอกแบบง่าย ราคาถูก ใช้เวลาเพาะเพียง 3 วัน เท่านั้น ส่วนเมล็ดแมงลักก็เป็นที่นิยมของผู้ที่ต้องการลดความอ้วน ซึ่งการรับประทานเมล็ดแมงลักแช่น้ำทุกวันจะทำให้ไม่อ้วนและมีรูปร่างดี รอบๆ รั้วด้านหน้าแปลงได้ปลูกทานตะวันโดยรอบ ดอกทานตะวันจะช่วยประดับแปลงให้สวยงาม และเมล็ดยังนำมาเป็นอาหารอันทรงคุณค่าได้อีกด้วยส่วนของพื้นที่ที่เหลือก็ปลูกพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพรไว้เป็นอาหารเพื่อลดรายจ่าย เช่น ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว บวบ มะระ ใบกะเพรา โหระพา สะระแหน่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้เลี้ยงปลาดุกในวงบ่ออีก 3 บ่อ และเพาะเห็ดนางฟ้าอีก 30 ก้อน เพื่อไว้เป็นแหล่งอาหารโปรตีน และถ้าเหลือจากรับประทานก็สามารถจำหน่ายช่วยเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง