วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2551

ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดสารเคมี

ศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสถานที่ที่จัดสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) ระดับชาติ ครั้งที่ 28 ในวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 โดยเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีทุกชนิด เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเทคโนโลยีที่เหมาะสม ภูมิปัญญาชาวบ้าน ข้อปฏิบัติที่ดี (best practice) จากการปฏิบัติจริง (knowledge management) มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทดลองปฏิบัติ เพื่อขยายผลสู่เกษตรกร และผู้สนใจที่ได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ หรือพัฒนาอาชีพได้ดียิ่งขึ้น

เจาะลึกศิลปะการขาย

1. ก่อนขายสินค้าใดๆ ก็ตาม ผู้ขายต้องมีความรู้เกี่ยวกับสินค้านั้นๆ เพื่อให้ข้อมูลแก่ลูกค้า

2. ใช้คำพูดที่สุภาพ เป็นธรรมชาติ หลีกเลี่ยงคำที่เข้าใจยาก

3. หมั่นเสนอแนะถึงประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับจากสินค้า

4. พยายามตอบข้อซักถามจากลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าได้ข้อมูลที่เป็นจริง

5. อดทนต่อสิ่งต่างๆ ที่มักจะเกิดขึ้นระหว่างการสนทนา เช่น คำตำหนิ การปฏิเสธ

6. สร้างสายสัมพันธ์ระยะยาว เพื่อให้ลูกค้าเก่าเกิดการซื้อซ้ำ และบอกต่อไปยังเพื่อนๆ

สำคัญมาก เรื่องการตลาด

เรื่องการตลาดสำคัญที่สุด อาจารย์มนัส ภูมิวัฒน์ ให้ข้อมูลว่า

งานขายเป็นงานที่ต้องใช้ศิลปะเพื่อจูงใจลูกค้า ดังนั้น พนักงานขายจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ในการเสนอขาย เพื่อเพิ่มยอดขายและขยายฐานลูกค้า

ผู้ขายสินค้าจะต้องคำนึงถึงปัจจัยที่จะทำให้ยอดขายเพิ่ม ดังนี้

1. ใครเป็นลูกค้าของเรา

2. รู้ความต้องการของลูกค้า

3. จะขายสินค้าที่ไหน

4. ขายราคาเท่าไร

5. โฆษณาอย่างไร

6. จูงใจลูกค้าด้วยเหตุผล

สัตว์น้ำแบบอินทรีย์

อาจารย์วีระศักดิ์ ซัวต๋อ ให้ข้อมูลไว้ในเอกสารว่า การเลี้ยงสัตว์น้ำแบบอินทรีย์เป็นแนวทางในการพัฒนาการเลี้ยงเพื่อให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เนื่องจากสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลามีโปรตีนสูง สามารถย่อยได้ง่าย ดังนั้น แนวทางดังกล่าวควรคำนึงถึงการจัดการด้านกระบวนการเลี้ยง และควบคุมระบบต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะคุณภาพน้ำ เนื่องจากปลาหรือสัตว์น้ำจำเป็นต้องได้รับอาหารทุกวัน ก็ย่อมมีการขับถ่ายของเสีย และมีการหมักหมมบริเวณพื้นก้นบ่อ ดังนั้น จำเป็นต้องใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อนำมาใช้ในบ่อปลา เป็นการจัดการของเสียในบ่อปลา และทำให้คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่สัตว์สามารถเจริญเติบโตได้ นอกจากนี้ การถ่ายเทน้ำเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน น้ำที่ถ่ายเทควรนำไปใช้ประโยชน์ต่อ นอกจากนี้ รูปแบบการเลี้ยงสัตว์น้ำในปัจจุบันมีความหลากหลายมาก เช่น การเลี้ยงปลาระบบปิด สามารถเลี้ยงได้หนาแน่น เนื่องจากมีการจัดการระบบการเลี้ยงที่ดี ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย และที่สำคัญปลอดโรค ซึ่งถือเป็นแนวทางในการพัฒนาด้านการเลี้ยงปลาในอนาคต

ไก่ในโรงเรือนเปิด-ปิด

อาจารย์ปริศนา มณีศรี แนะนำว่า การเลี้ยงไก่พื้นเมืองในโรงเรือนระบบเปิด (Open House) หรือโรงเรือนแบบกึ่งขังกึ่งปล่อย หรือแบบปล่อยลานล้อมด้วยลวดตาข่ายไม่ให้ไก่เพ่นพ่าน ในพื้นที่ 30 ตารางเมตร เลี้ยงไก่ได้ 60 ตัว เป็นพันธุ์ไก่พื้นเมืองของไทย ขนสีดำ สีน้ำตาล สีเทา สีหมากสุก สีลาย สีขาว สีเหลือง มีตุ้มหูสีขาวและสีแดง อาหาร ให้ข้าวเปลือกและเพาะปลวกให้กิน ให้น้ำสะอาด 10 ลิตร ผสมน้ำจุลินทรีย์ (นม) 30 ซีซี ให้กินเพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค ทำให้ไก่แข็งแรง และมูลที่ถ่ายออกมาปราศจากกลิ่น กำจัดกลิ่นพื้นเล้าไก่ โดยราดด้วยน้ำจุลินทรีย์ (นม) 250 ซีซี ผสมน้ำ 10 ลิตร เสริมอาหาร พืชสมุนไพร โดยตัดให้ไก่พื้นเมืองกินสดๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มโรคไก่จะไม่เป็นโรค และเพิ่มวิตามิน เช่น ฟ้าทลายโจร ทองพันชั่ง เสลดพังพอน ใบกะเพรา ใบโหระพา และว่านหางจระเข้ ฯลฯ ดอกดาวเรืองและดอกเข็มแดง มีเม็ดสี ให้ไก่พื้นเมืองกินสด ช่วยเพิ่มสีในไข่แดง

การเลี้ยงไก่ไข่ในโรงเรือนระบบปิด "อีแว็ป" (Evaporative Cooling System) โรงเรือน กว้าง 3 เมตร ยาว 4 เมตร เลี้ยงไก่ไข่บนกรงตับได้ 50 ตัว (ถ้าเลี้ยงไก่ไข่แบบขังรวมหรือปล่อยพื้นสามารถจุไก่ได้ถึง 150 ตัว) เป็นไก่ไข่ลูกผสมเพื่อการค้า คือพันธุ์ฮับบาร์ด ให้อาหารผสมสำเร็จรูป ให้ไก่กินน้ำ ผสม EM สด อัตรา 1 ช้อนโต๊ะ กับน้ำ 200 ลิตร เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค ไก่แข็งแรงถ่ายมูลไม่มีกลิ่นเหม็น พืชสมุนไพร ตากแห้ง ป่นละเอียด คลุกเคล้าในอาหารให้ไก่กิน เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค ได้แก่ ฟ้าทลายโจร ทองพันชั่ง เสลดพังพอน ใบกะเพรา ใบโหระพา และว่านหางจระเข้ ส่วนดอกดาวเรืองและดอกเข็มแดงตากแห้งป่นละเอียดผสมในอาหารให้ไก่ไข่กิน ทำให้ไข่แดงมีสีแดงเข้มขึ้น

หากไก่เป็นโรคทางเดินอาหาร ใช้ EM สด 1 ช้อนโต๊ะ ผสมในอาหารให้ไก่กิน ใช้ EM ราดพื้นเล้าสามารถดับกลิ่นได้

ไก่ในโรงเรือนเปิด-ปิด

อาจารย์ปริศนา มณีศรี แนะนำว่า การเลี้ยงไก่พื้นเมืองในโรงเรือนระบบเปิด (Open House) หรือโรงเรือนแบบกึ่งขังกึ่งปล่อย หรือแบบปล่อยลานล้อมด้วยลวดตาข่ายไม่ให้ไก่เพ่นพ่าน ในพื้นที่ 30 ตารางเมตร เลี้ยงไก่ได้ 60 ตัว เป็นพันธุ์ไก่พื้นเมืองของไทย ขนสีดำ สีน้ำตาล สีเทา สีหมากสุก สีลาย สีขาว สีเหลือง มีตุ้มหูสีขาวและสีแดง อาหาร ให้ข้าวเปลือกและเพาะปลวกให้กิน ให้น้ำสะอาด 10 ลิตร ผสมน้ำจุลินทรีย์ (นม) 30 ซีซี ให้กินเพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค ทำให้ไก่แข็งแรง และมูลที่ถ่ายออกมาปราศจากกลิ่น กำจัดกลิ่นพื้นเล้าไก่ โดยราดด้วยน้ำจุลินทรีย์ (นม) 250 ซีซี ผสมน้ำ 10 ลิตร เสริมอาหาร พืชสมุนไพร โดยตัดให้ไก่พื้นเมืองกินสดๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มโรคไก่จะไม่เป็นโรค และเพิ่มวิตามิน เช่น ฟ้าทลายโจร ทองพันชั่ง เสลดพังพอน ใบกะเพรา ใบโหระพา และว่านหางจระเข้ ฯลฯ ดอกดาวเรืองและดอกเข็มแดง มีเม็ดสี ให้ไก่พื้นเมืองกินสด ช่วยเพิ่มสีในไข่แดง

หมูหลุม สุดยอดจริงๆ

ใครที่สนใจหมูหลุม ต้องอ่านตรงนี้

อาจารย์สมเกียรติ นิติพงศ์สุวรรณ อธิบายไว้ว่า การเลี้ยงหมูหลุม นอกจากจะทำกำไรให้แก่ผู้เลี้ยง เนื่องจากสามารถลดต้นทุนค่าอาหารได้มากแล้ว ยังทำให้ภาระในการเลี้ยงลดลง ไม่ต้องกวาดพื้นกำจัดขี้หมู ไม่มีกลิ่น ไม่เฉอะแฉะ และไม่มีแมลงวันตอม

พื้นที่คอกหมูหลุม ขุดดินออกไปทั้งหมด ลึกประมาณ 90 เซนติเมตร แล้วผสมวัสดุเหล่านี้ใส่แทนดินที่ขุดออกไป ขี้เลื่อยหรือแกลบหยาบ 100 ส่วน ดินที่ขุดออก 10 ส่วน เกลือ 0.5 ส่วน โดยผสมขี้เลื่อย ดิน และเกลือ แล้วใช้จุลินทรีย์จากน้ำหมักพืช หรือจุลินทรีย์จากการหมักนมราดลงพื้นชั้นที่ 1 เมื่อมีความลึก 30 เซนติเมตร โรยดินชีวภาพเชื้อราขาวบางๆ แล้วทำเหมือนชั้นแรก จนครบ 3 ชั้น แล้วโรยแกลบดิบปิดหน้า 1 ฝ่ามือ แล้วปล่อยหมูลงไป หลังจากนั้นใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 10 ลิตร ราดลงพื้นเป็นครั้งคราว เพื่อให้เกิดการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ เมื่อเก่าหากต้องการนำไปทำปุ๋ยก็สามารถนำไปใช้ได้ แต่ต้องผสมทำพื้นใหม่ พื้นคอกไม่ต้องทำความสะอาด ไม่ต้องกวาด หมูจะขุดคุ้ยและกินจุลินทรีย์ จะมีบรรยากาศที่สบายด้วยระบบการถ่ายเทอากาศที่เป็นธรรมชาติ

อาหารเสริมที่หมักจากพืชสีเขียว

วัตถุดิบ ผลไม้ หรือพืชสีเขียว 100 กิโลกรัม น้ำตาลทรายแดง 4 กิโลกรัม โดยนำผลไม้หรือพืชสีเขียวที่ได้มาสับให้ละเอียด ผสมน้ำตาลทรายแดงคลุกให้เข้ากัน บรรจุในถังหมักให้มีพื้นที่ว่างเหลือ 1/3 ของถัง ปิดด้วยกระดาษที่ถ่ายเทอากาศได้ มัดเชือกหมักทิ้งไว้ 7 วัน แล้วจึงนำไปใช้

วิธีการใช้

สามารถนำน้ำที่ได้จากการหมักไปผสมน้ำให้หมูดื่ม ส่วนเศษพืชที่หมักนำไปให้หมูกินได้ หรืออาจนำไปผสมรำอ่อนและอาหารสัตว์โดยใช้หัวอาหารสำเร็จรูป : รำอ่อน : อาหารหมัก เท่ากับ 2 : 2 : 5 โดยให้เช้า-เย็น

ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดประโยชน์สูง

ได้รับการอธิบายจากอาจารย์จักรกฤษณ์ว่า ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดผลิตจากอินทรียวัตถุโดยการใช้ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายดีแล้ว มีธาตุอาหารพืชมาบดอัด แล้วผึ่งหรืออบให้แห้ง ควรมีความชื้นประมาณ 10-12 เปอร์เซ็นต์ เพื่อไม่ให้เกิดเชื้อรา เก็บในภาชนะที่แห้งและปิดสนิทจะเก็บได้นานโดยไม่มีการสูญเสียคุณค่าของปุ๋ย

คุณลักษณะที่ดีของปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด มีธาตุอาหารที่จำเป็นของพืช ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม สามารถนำเอาวัสดุเหลือใช้มาอัดเม็ดใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ย เป็นการกำจัดปัญหามลพิษใช้ง่าย และสะดวก ใช้ได้ทั้งพืชผัก พืชไร่ ไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ ช่วยลดต้นทุนการผลิต

ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ได้รับความนิยม

อาจารย์จักรกฤษณ์ แนะนำไว้ดังนี้
ปุ๋ยน้ำชีวภาพ หมายถึง ปุ๋ยที่ประกอบไปด้วยจุลินทรีย์ที่มีชีวิต สามารถสร้างธาตุอาหาร หรือช่วยให้ธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์กับพืช การทำปุ๋ยชีวภาพอาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น ปุ๋ยแห้ง ปุ๋ยน้ำ

การทำปุ๋ยน้ำชีวภาพสามารถทำได้ง่ายๆ โดยใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ (EM) กากน้ำตาล อย่างละ 2 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำสะอาด 1 ลิตร ในขวดพลาสติคมีฝาเกลียวปิดฝา เขย่าให้ละลายเข้ากันหมักไว้ 3-5 วัน สามารถนำมาใช้หรือขยายต่อโดยวิธีเดียวกันได้ 3 รุ่น

วิธีการใช้ ใช้ 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกากน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 10 ลิตร ฉีด พ่น รด ราด ให้ทั่ว

นอกจากนี้ สามารถใช้จุลินทรีย์แห้งหมักกับเศษอาหารในครัวเรือน เศษเปลือกผลไม้ให้ย่อยสลาย โดยหมักในถังที่มีฝาปิด ทิ้งไว้ 7-10 วัน จะได้น้ำสีเหลืองหรือส้มอยู่ข้างล่างของถัง นำมาใช้ได้เช่นเดียวกัน

การใช้ประโยชน์ ใช้ได้กับพืชทุกชนิด การปศุสัตว์ การประมง ใช้ในการรักษาความสะอาด กำจัดกลิ่น ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ผู้ใช้ ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และลดต้นทุนการผลิต

ขั้นตอนการปฏิบัติดูแลมะนาวนอกฤดู

1. หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตเดือนพฤษภาคมตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยคอก และฉีดพ่น ราด รด ด้วยน้ำชีวภาพจากหอยเชอรี่ หรือปลา
2. ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน ควรใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพจากหอยเชอรี่ หรือปลา ด้วยการฉีดพ่น ราด รด อย่างน้อยเดือนละครั้ง
3. เดือนตุลาคมให้ปุ๋ยฮอร์โมนผลไม้ 4-5 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 10 ลิตร ฉีด พ่น ราด รด เพื่อบำรุงให้ใบแก่เร็วขึ้น เร่งการสะสมอาหารช่วงกลางเดือน งดการให้น้ำเร่งการออกดอก
4. เดือนพฤศจิกายนมะนาวเริ่มออกดอก ควรฉีดพ่นด้วยน้ำส้มควันไม้ หรือสารชีวภาพป้องกันกำจัดแมลง
5. เดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ฉีด พ่น ราด รดน้ำชีวภาพจากหอยเชอรี่หรือปลา เพื่อบำรุงต้น และผลให้สมบูรณ์
6. เดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนเก็บเกี่ยวผลผลิต

สุดฮิต มะนาวในวงบ่อ

อาจารย์ประเดิม บุตรเพลิง อธิบายไว้ในเอกสาร ดังนี้การปลูกมะนาววงบ่อ เป็นการปลูกมะนาวในพื้นที่จำกัด เพื่อให้สามารถควบคุมปัจจัยการผลิตของมะนาวนอกฤดู และมีผลผลิตที่สามารถจำหน่ายได้ราคาสูงกว่าปกติ

ขั้นตอนการปลูกมะนาวในวงบ่อ
1. วางแผ่นรองและวงบ่อตามระยะในแผนผัง
2. ใส่ดินผสมในวงบ่อให้เต็ม หรือพูนขึ้นเล็กน้อย (12-15 ปี๊บ)
3. นำกิ่งมะนาวลงปลูกกลางวงบ่อ
4. ใช้หลักไม้ไผ่ปักแล้วผูกมัดติดกับต้นมะนาว กันลมพัดโยก
5. ใช้วัสดุคลุมโคนต้นจนทั่วบริเวณขอบวงบ่อ
6. รดน้ำให้ชุ่มทุกวันตลอดสัปดาห์ หลังจากนั้นจึงรดน้ำวันเว้นวัน

การป้องกันกำจัดศัตรูพืช

1. ปลูกพืชไล่แมลง เช่น ดาวเรือง2. ใช้น้ำสมุนไพรสกัดที่ได้จากการหมักพืชที่มีคุณสมบัติไล่และกำจัดแมลง เช่น ว่านน้ำ หนอนตายหยาก โล่ติ๊น ใยยาสูบ ขมิ้นชัน และเมล็ดสะเดา เป็นต้น นำส่วนผสมเหล่านี้มาหมักตามกระบวนการเทคโนโลยีชีวภาพนาน 3 เดือน แล้วจึงนำสารละลายที่ได้มาใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืช

การให้ปุ๋ย

1. ใช้ปุ๋ยอินทรีย์แห้ง (โบกาฉิ) น้ำสกัดชีวภาพที่ได้จากการหมักส่วนต่างๆ ของพืช เช่น หน่อไม้ หน่อกล้วย ผักบุ้ง กล้วยน้ำว้า มะละกอ และฟักทอง หมักทิ้งไว้นาน 3 เดือน นำสารละลายที่ได้มาใช้ประโยชน์โดยละลายน้ำรด หรือฉีดพ่นให้แก่พืชผัก
2. ปุ๋ยอินทรีย์ต่างๆ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เป็นต้น

พืชผักอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี

เป็นการปลูกผักแบบอินทรีย์ ไม่มีการใช้สารเคมีที่เป็นพิษ เช่น ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ในทุกขั้นตอนของการปลูกพืช ตั้งแต่เตรียมดิน การปฏิบัติดูแลรักษา จนถึงการเก็บเกี่ยวการเตรียมดิน ยกแปลงปลูกตากดินเพื่อกำจัดโรคและแมลงในดิน หลังจากนั้นคลุกเคล้าดินปลูกด้วยอินทรียวัตถุต่างๆ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ตลอดจนใช้น้ำหมักชีวภาพ หรือสารละลาย อีเอ็ม (เชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ) รดลงดินเพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์แก่ดิน โดยหมักดินทิ้งไว้ 7 วัน จึงปลูกพืชตามการปลูกผัก ปลูกได้ 3 วิธี คือเพาะกล้าแล้วย้ายปลูก หว่านแล้วถอนแยก และหยอดเป็นหลุมชนิดของพืชผัก เน้นการปลูกผักที่หลากหลาย มีทั้งผักกินใบ กินราก กินผล กินดอก ปลูกผสมผสานกันไป

การปลูกพืชไร่

มีพืชหลัก 3 ชนิดแปลงนี้ปลูกพืชไร่
พืชไร่ส่วนใหญ่ต้องใช้พื้นที่ในการปลูกค่อนข้างมาก แต่การปลูกพืชไร่ในพื้นที่ที่จำกัดนั้น ควรเลือกชนิดของพืชไร่ที่มีอายุสั้นเพื่อจะได้มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตรวดเร็ว เป็นพืชที่ตลาดต้องการ ถ้าขายก็จะได้ราคาดี ถ้าใช้รับประทานก็จะให้คุณค่าทางอาหารสูงแปลงพืชไร่ ในโครงการ "ตามรอยเท้าพ่อ สู่วิถีพอเพียง" จึงเลือกปลูกพืชไร่ที่เป็นหลัก 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพดหวาน ถั่วแระญี่ปุ่น และงา ซึ่งพืชทั้ง 3 ชนิดนี้มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 60-80 วัน เป็นที่ต้องการของตลาดมาก ขายได้ราคาดี และมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก อีกทั้งยังเป็นอาหารที่ช่วยบำรุงรักษาสุขภาพ สามารถป้องกันโรคได้หลายอย่างนอกจากปลูกพืชไร่หลัก 3 ชนิดแล้ว ยังได้ปลูกถั่วเขียวและแมงลักเป็นพืชเสริม เพื่อเก็บเมล็ดถั่วเขียวไว้ทำถั่วงอก ซึ่งเรามีเครื่องเพาะถั่วงอกแบบง่าย ราคาถูก ใช้เวลาเพาะเพียง 3 วัน เท่านั้น ส่วนเมล็ดแมงลักก็เป็นที่นิยมของผู้ที่ต้องการลดความอ้วน ซึ่งการรับประทานเมล็ดแมงลักแช่น้ำทุกวันจะทำให้ไม่อ้วนและมีรูปร่างดี รอบๆ รั้วด้านหน้าแปลงได้ปลูกทานตะวันโดยรอบ ดอกทานตะวันจะช่วยประดับแปลงให้สวยงาม และเมล็ดยังนำมาเป็นอาหารอันทรงคุณค่าได้อีกด้วยส่วนของพื้นที่ที่เหลือก็ปลูกพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพรไว้เป็นอาหารเพื่อลดรายจ่าย เช่น ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว บวบ มะระ ใบกะเพรา โหระพา สะระแหน่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้เลี้ยงปลาดุกในวงบ่ออีก 3 บ่อ และเพาะเห็ดนางฟ้าอีก 30 ก้อน เพื่อไว้เป็นแหล่งอาหารโปรตีน และถ้าเหลือจากรับประทานก็สามารถจำหน่ายช่วยเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง