วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ทฤษฎีใหม่ : ขั้นที่สอง


เมื่อเกษตรกรดำเนินการเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นต้น หรือขั้นที่ 1 คือการผลิตอาหารเพื่อบริโภคจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เกษตรกรมีอาหารไว้บริโภคในครอบครัวอย่างเพียงพอ และสามารถช่วยตัวเองได้แล้ว ขั้นต่อไปที่จะต้องดำเนินการต่อก็คือ การรวมพลังกันในรูปของกลุ่มหรือสหกรณ์ เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินกิจกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้ 1. การผลิต ในกระบวนการผลิตทางการเกษตรนั้น เกษตรกรสามารถที่จะดำเนินการร่วมกันในหลายๆ ด้านดังนี้ 1.1 การร่วมมือกันในด้านพันธุ์พืช พันธุ์พืชเป็นปัจจัยปลักอย่างหนึ่งในการประกอบอาชีพการเกษตร หากมีการแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันภายในชุมชนแล้ว จะทำให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนในการประกอบอาชีพ และจะทำให้การประกอบอาชีพนั้นประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น
1.2 การร่วมมือกันในการเตรียมดิน การเตรียมดินก่อนการปลูกพืชเป็นงานที่สำคัญอย่างหนึ่ง หากเกษตรกรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนเครื่องมืออุปกรณ์และแรงงานกัน ดังที่เกษตรกรทั่วไปเรียกว่า เอาแรงกัน จะทำให้ประหยัดแรงงานและค่าใช้จ่าย 1.3 การร่วมมือกันทำงาน เช่น การดำนา การหว่านเมล็ด หรือการปลูกพืช การกำจัดวัชพืช การเก็บเกี่ยวผลิตผล กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ ควรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมมือร่วมแรงกัน ดังกรณีประเพณี การลงแขก ของชาวนาไทยในอดีต

1.4 การช่วยเหลือกันในการจัดการแหล่งน้ำ หากมีการช่วยเหลือกันในการขุดสระน้ำ หรือในกรณีที่ขาดน้ำ มีการแบ่งปันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะเป็นการแก้ปัญหาหรือลดปัญหาในการขาดแคลนน้ำได้ 2. การตลาด ทฤษฎีใหม่ในขั้นนี้เป้นขั้นที่มีการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเกษตรกรสามารถผลิตได้มากกว่าปริมาณที่ใช้ในการบริโภค ส่วนที่เหลือก้สามารถนำไปจำหน่ายได้ ดังนั้นเกษตรกรควรมีการร่วมมือร่วมใจกันในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้ 2.1 ลานตากข้าว ลานตากข้าวเป็นเรื่องจำเป็น เพราะถ้าหากหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วไม่ตากให้แห้งจะทำให้ข้าวมีความชื้นสูง ทำให้ขายได้ในราคาต่ำ แต่การที่จะทำลานตากข้าวนั้น เกษตรกรมักประสบกับปัญหาอยู่เสมอ เช่น มีปัญหาเรื่องเงิน แรงงาน หรือแม้แต่พื้นที่ที่จะใช้ทำลานตากข้าว เนื่องจากเกษตรกรมีพื้นที่จำกัด ดังนั้นเกษตรกรควรร่วมมือกันในการจัดทำและใช้ลานตากข้าวร่วมกัน โดยกำหนดระยะดวลาการใช้ให้เหมาะสม เช่น กำหนดระยะเวลาเก็บเกี่ยวและตากข้าวไม่พร้อมกัน ถ้าหากทำเช่นนี้จะทำให้เกษตรกรประหยัดแรงงานและค่าใช้จ่าย จะทำให้มีรายได้สูงขึ้น 2.2 ยุ้งข้าวหรือยุ้งฉางเก็บรักษาเมล็ดพืชไร่ ยุ้งฉางมีไว้เพื่อเก็บรักษาผลิตผลในกรณีที่ยังไม่พร้อมที่จะขาย หรือในช่วงที่มีราคาตกต่ำ เกษตรกรในชุมชนควรร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยเหลือและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเช่นเดียวกับกรณีของลานตากข้าว
2.3 เครื่องสีข้าว เกษตรกรควรรวมกลุ่มกันเพื่อจัดหาหรือจัดตั้งเครื่องสีข้าว สำหรับใช้ในชุมชนของตนเอง จะทำให้ขายข้าวได้ในราคาสูง เพราะเป็นการขายให้โรงสีของตนเอง ไม่ต้องขายให้พ่อค้าคนกลาง และยังสามารถสีข้าวไว้บริโภคเอง เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย 2.4 การจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรร่วมกัน หลังจากที่เกษตรกรผลิตสินค้าทางการเกษตรได้แล้ว หากเกษตรกรนำมาจำหน่ายร่วมกันในรูปของกลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ เกษตรกรก็จะสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูง เนื่องจากการจำหน่ายในลักษณะเช่นนี้ เป็นการจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง นอกจากนี้การรวมกลุ่มกันจะทำให้มีพลังในการต่อรอง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกกดราคาจากผู้ซื้อ

3. ความเป็นอยู่ ในด้านสภาพชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชนนั้น เกษตรกรควรพึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐาน จำพวกอาหารการกิน เช่น พริก เกลือ น้ำปลา กะปิ น้ำมันพืช หรือแม้แต่เสื้อผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มก็สามารถแลกเปลี่ยนหรือแบ่งปันกันได้ 4. สวัสดิการ ในแต่ละชุมชนควรจัดตั้ง จัดหาสวัสดิการต่างๆ สำหรับชุมชน เช่น กองทุนเงินกู้ยืมสำหรับสมาชิก รวมทั้งการบริการในด้านสุขอนามัยในชุมชน สวัสดิการต่างๆ เหล่านี้เกษตรกรจะต้องร่วมมือร่วมใจกันจัดตั้งขึ้น เพื่อให้เป็นสวัสดิการภายในชุมชน 5. การศึกษา การศึกษาจะเป็นส่วนช่วยให้สังคมและชุมชนอยู่อย่างมั่นคงและมีความสุข ดังนั้นเกษตรกรที่ร่วมดำเนินการเกษตรทฤษฎีใหม่ควรมีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา เช่น จัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษา จัดหาวัสดุอุปกรณ์การศึกษาที่จำเป็นไว้บริการภายในชุมชน เพื่อประโยชน์ในการเล่าเรียนของบุตรหลานเกษตรกรเอง 6. สังคมและศาสนา ชุมชนจะอยู่อย่างสงบสุขได้จะต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ เช่น การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสมบัติ เช่น วัด โรงเรียน ตลาด ตลอดจนแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง สิ่งอำนวยประโยชน์เหล่านี้ หากเกษตรกรในชุมชนร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาให้มีสภาพดีแล้ว ชุมชนก็สามารถใช้ร่วมกันและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข กล่าวโดยสรุป ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สองก็คือ การเกาตรก้าวหน้า หรือเกษตรออมทรัพย์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ครอบครัวเกษตรกร ชุมชนเกษตรกรทุกระดับร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ในการบริหารและจัดการพื้นที่ทำการเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยเกษตรกร บุคลากร ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีคุณภาพ คุณธรรม จริยธรรม ร่วมคิด ร่วมทำ และประสานงาน เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาการเกษตรยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น: