วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

โลกาภิวัฒน์กับเศรษฐกิจพอเพียง

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ปรัชญาที่ใช้ได้เฉพาะครอบครัวหรือชุมชนเท่านั้น แต่เป็นปรัชญาที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับสังคมโดยรวม การจะดำรงชีวิตอยู่ได้ตามหลักการพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น สมาชิกจำเป็นที่จะต้องเข้าใจสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตามอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์ ควบคู่ไปกับการพยายามหาหนทางหรือวิธีการที่จะดำรงชีวิตตามหลักการพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงให้ดำเนินไปได้อย่างสมดุลและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในยุคโลกาภิวัตน์ โดยอาศัยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบที่ชุมชนอาจจะได้รับจากกระแสโลกาภิวัตน์ ไม่ให้กระแสเหล่านั้นเข้ามาทำลายเอกลักษณ์และวัฒนธรรมชุมชน จนชุมชนต้องล่มสลายไป ดังนั้น เพื่อให้ชุมชนต่างๆสามารถดำเนินการได้ตามแนวทางข้างต้น เราซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่ง ของสังคมจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจปฎิสัมพันธ์ระหว่างกระแสโลกาภิวัตน์กับเศรษฐกิจพอเพียงก่อน โดยการทบทวนหรือมองย้อนกลับไปถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 อันเป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่สังคมไทยได้รับจากการเปิดรับกระแสโลกาภิวัตน์มากเกินไป โดยไม่ได้เตรียมความพร้อมของคนและระบบในสังคมให้ดีพอ ความเข้าใจถึงปัจจัยภายในประเทศที่มีส่วนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หรือปัจจัยที่มีส่วนผลักดันให้ผลกระทบของวิกฤตแผ่ขยายไปทั่วประเทศในวงกว้าง จะทำให้เราเข้าใจปฎิสัมพันธ์ระหว่างกระแสโลกาภิวัตน์และกระบวนการพัฒนาประเทศได้ดียิ่งขึ้นและ ความเข้าใจดังกล่าวอาจนำไปสู่ข้อเสนอแนะในการพัฒนาที่ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: