วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

วิกฤติเศรษฐกิจ

วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 เป็นบทเรียนที่ดีในการวางแผนการพัฒนาประเทศ โดยทำให้เห็นความสำคัญของแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ที่เน้นความพอเพียงเป็นพื้นฐานก่อน ดังพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานไว้ว่า “การเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ความพอมีพอกิน” ความผิดพลาดทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นพบว่า มีปัจจัยต่างๆ หลายประการที่มีส่วนผลักดันให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถจัดกลุ่มได้ดังนี้ วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ 1. อิทธิพลจักรวรรดินิยมตะวันตก ค่อยๆ กลืนวัฒนธรรมไทยและแทรกแซงกิจการภายในประเทศ ครอบงำปัจจัยพื้นฐานของประเทศ และบั่นทอนความมั่นคงของประเทศ ผ่านเครื่องมือ 4 อย่าง ได้แก่ สถาบันการเงิน นักการเมืองที่ทุจริต ระบบประชาธิปไตยแบบยึดเสียงข้างมากเป็นหลัก และสื่อมวลชน 2. แนวทางการพัฒนาของประเทศในช่วงที่ผ่านมานั้น รัฐส่งเสริมการพัฒนาแบบรวมศูนย์หรือเอาเงินเป็นตัวตั้ง มุ่งกระจายเงินไปสู่ชนบทโดยไม่คำนึงถึงการหาแนวทางเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับสมาชิกในชุมชน แต่เน้นส่งเสริมให้สมาชิกมุ่งผลิตเพื่อส่งออก และทำรายได้แทนการปลูกเพื่อให้พอเพียงต่อการบริโภคภายในครัวเรือน 3. ผลจากการพัฒนาดังกล่าว ทำให้ สมาชิกในชุมชนคุ้นเคยกับการก่อหนี้ ไม่สนใจการออม มีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือลงทุนเกินตัว และวางแผนการใช้เงินโดยขาดความรอบคอบ ทำให้ขาดการเตรียมพร้อมในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม สังคม ค่านิยม และอิทธิพลของสื่อมวลชน 1. การเปลี่ยนแปลงทางสังคมมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตในสังคมไทย โดยในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ไม่คิดช่วยเหลือสังคม เนื่องจากระบบการศึกษานั้นเน้นให้ความสำคัญกับใบปริญญามากกว่าเน้นผลที่จะได้รับการศึกษาเล่าเรียน ขณะที่สถาบันส่วนใหญ่มักได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ทำให้วัฒนธรรมที่ดีงามแต่ดั้งเดิมถูกทำลาย มีการรับเอาวิถีการดำเนินชีวิตจากต่างประเทศมาโดยไม่ปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย เพราะถูกความเจริญของวัฒนธรรมตะวันตกแทรกเข้ามาในรูปแบบการบริโภคและอุปโภค เงินกลายเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต การเน้นสร้างความร่ำรวย ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากร เช่น ป่าไม้และทรัพยากรทางทะเลเพื่อนำไปส่งเสริมความกินดีอยู่ดีทางวัตถุ 2. ขาดการถ่ายทอดความรู้และต่อยอดภูมิปัญญาไปยังรุ่นลูกหลาน หรือปลูกฝังค่านิยมในการดำเนินชีวิตที่ผิด เช่น ไม่ปลูกฝังให้สมาชิกรู้จักความพอเพียง ไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ ไม่รู้จักบุญคุณคน ไม่ให้ความนับถือผู้สูงอายุหรือพระสงฆ์ ไม่รู้จักหน้าที่ของการเป็นคนดี นับถือคนรวยโดยไม่คำนึงถึงวิธีการหาเงินของเขาว่าผิดกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งการไม่รู้จักวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ไทยและการไม่ยึดมั่น/เข้าใจในหลักคำสอนของศาสนา จึงนำเอาหลักคำสอนมาใช้ในทางที่ผิด และค่านิยมที่มุ่งส่งเสริมความเห็นแก่ตัว ตัวใครตัวมัน ทำให้สมาชิกไม่เห็นอกเห็นใจกัน หรือร่วมมือร่วมใจกันเมื่อเกิดปัญหา 3. การเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมและวิถีการดำรงชีวิตของสมาชิกในชนบท และปัญหาโครงสร้างประชากรของชุมชน เนื่องจากสมาชิกในชนบทไม่อยากเป็นชาวนา จึงอพยพออกจากท้องถิ่นเพื่อไปหางานทำในเมือง ทำให้เหลือแต่คนชราและเด็กอยู่ในชุมชน เป็นผลให้ชุมชนขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร สถาบันครอบครัวจึงล่มสลาย พ่อแม่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตนเองทำให้ละเลยที่จะอบรมและเอาใจใส่ลูก เพื่อนและสังคมภายนอกจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถชักจูงลูก มากกว่าครอบครัว 4. นักธุรกิจและผู้ประกอบการด้านสื่อขาดคุณธรรมและจริยธรรมในการประกอบอาชีพ มุ่งทำเงินมากกว่าคุณภาพของสื่อ ทำให้สื่อขาดมาตรฐานหรือเปิดเสรีมากเกินไป ทำให้ผู้บริโภคในสังคมไทยขาดข้อมูลที่มีคุณภาพและมักถูกสื่อครอบงำ เช่น สื่อให้ความรู้ที่ผิดพลาดในด้านข่าวสารและการสร้างค่านิยมที่ฟุ้งเฟ้อ หรือเด็กมักถูกอิทธิพลของสื่อมอมเมาได้ง่าย ระบบราชการ การเมือง และกฎหมาย 1. กระบวนการทางการเมืองไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ในการพัฒนาระดับชุมชน ดังจะเห็นได้ว่า ในอดีตประชาชนไม่สนใจที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือในกระบวนการเลือกตั้งเพื่อสรรหาคนดีมารับใช้ประเทศ ทำให้ได้นักการเมืองที่ไม่มีคุณธรรม มุ่งตักตวงผลประโยชน์ให้ตนเอง และยึดระบบอุปถัมภ์ช่วยเหลือพวกพ้องสร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ประกอบกับผู้นำประเทศไม่มีคุณภาพ การทุจริตและฉ้อราษฎร์บังหลวงทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ขณะที่บุคลากรในระบบราชการ มีจำนวนข้าราชการมากจนเกินงาน ทำให้เกิดการว่างงานแฝง 2. โครงสร้างทางการเมืองที่ไม่โปร่งใส และกระบวนการวางแผนพัฒนาไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนในประเทศมีส่วนร่วม หรือยังคงเป็นแบบรวมศูนย์การปกครอง ไม่กระจายอำนาจไปสู่กลุ่มคนที่เป็นรากฐานของสังคมได้อย่างแท้จริง ทำให้แนวทางการพัฒนาของรัฐไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เพราะภาครัฐไม่ฟังเสียงคนจากฐานราก จึงไม่รู้หรือเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของประชาชน และทำงานในลักษณะที่ไม่ประสานกันกับภาคเอกชนหรือภาคชุมชน 3. ระบบกฎหมายล้าหลัง ไม่สามารถใช้เป็นหลักตรวจสอบหรือถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเอื้อให้เกิดความเสมอภาคที่เปิดให้ทุกคนภายในชุมชนมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน ปัจจัยทางด้านความรู้ เทคโนโลยี และ การศึกษา 1. ปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี หรือนำมาประยุกต์ใช้โดยไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย และทิ้งภูมิปัญญาดั้งเดิมของสังคมไทยที่สะสมกันมา 2. ปัญหาด้านหลักสูตรการศึกษาที่มุ่งส่งเสริมแต่หลักวิชา ไม่ได้สอนให้คนคิดเป็น ทำเป็น ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งผลิตเด็กที่มีความรู้แต่ไม่มีคุณธรรม บัณฑิตส่วนใหญ่ทำงานเพื่อสนองผลประโยชน์ของบริษัทธุรกิจหรือนายทุน ไม่ได้เข้าใจสภาพชุมชนหรือปัญหาสังคมที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่หรือนำความรู้ที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและชุมชนตนเองได้ 3. ระบบการศึกษาขาดคุณภาพ ไม่จูงใจให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาสมัครใจเป็นครูที่ดี ขณะที่สมาชิกที่เป็นนักศึกษาเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวมาเป็นภาระของครอบครัวที่พ่อแม่พี่น้องต้องหาเงินมาส่งเสียให้เรียน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การที่สมาชิกในชุมชนไม่รู้จักคุณค่าของทรัพยากรหรือมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ทำให้เกิดปัญหาความเสี่อมโทรมของปริมาณและคุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติที่เคยมีอย่างสมบูรณ์ในอดีต ที่ดินถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเกษตรกรผู้เป็นเจ้าของที่ดินไม่รู้จักรักษา ไม่รู้วิธีการ หรือจัดการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพหรือทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ไม่มีความคิดเห็น: