วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ทฤษฎีใหม่ : ขั้นที่หนึ่ง


พื้นฐานที่สำคัญของเกษตรกรที่จะปฏิบัติทฤษฎีใหม่ขั้นที่หนึ่ง ได้แก่ มีพื้นที่ค่อนข้างน้อย ประมาณ 15 ไร่ ค่อนข้างยากจน จำนวนสมาชิกปานกลาง (ไม่เกิน 6 คน) อยู่ในเขตใช้น้ำฝนธรรมชาติ ฝนไม่ชุกมากนัก ดินมีสภาพขุดสระเก็บกักน้ำได้ ในระยะแรกจะผลิตพอเพียงเลี้ยงตัวได้ แต่จะต้องกินอยู่อย่างประหยัด มีความขยันหมั่นเพียร มีความสามัคคี และช่วยเหลือเกื้อกูลกันกับเพื่อบ้าน หลักการที่สำคัญของการปฏิบัติคือรู้จักการบริหารและจัดการดินและน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับการบริหารเวลา บริหารเงินทุน และกำลังคน เพื่อให้บังเกิดผลผลิตเป็นอาหารและรายได้ตลอดปี และผลจากการที่ได้ทรงคิดและคำนวณ พระองค์ได้ทรงแนะนำให้แบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 : 30 : 30 : 10 และทำกิจกรรมดังนี้


1. ร้อยละ 30 ส่วนแรก ให้ขุดสระประมาณ 4-5 ไร่ สำหรับเก็บน้ำฝนธรรมชาติที่มีอย่างเหลือเฟือในฤดูฝนปกติ เพื่อใช้สำหรับรดน้ำพืชที่ปลูกในฤดูฝนยามเมื่อฝนทิ้งช่วงแห้งแล้ง การใช้น้ำจะต้องเป็นไปอย่างประหยัด โดยใช้วิธีการและเลือกพืชกับวิธีปลูกพืชแต่ละชนิดที่เหมาะสม วิธีการให้น้ำโดยประหยัด เช่น การตักรด การสูบส่งตามท่อยาง หรือการใช้ระบบน้ำหยดแบบพื้นบ้าน เป็นต้น ส่วนพืชและวิธีปลูกที่เหมาะสม เช่น เลือกพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่น พืชยืนต้นหรือพืชอายุสั้น โดยปลูกผสมผสานกันหลายๆ ชนิด ระหว่างพืชต้นใหญ่และพืชล้มลุก เพื่อการใช้พื้นที่และน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและมีเสถียรภาพ
น้ำที่เก็บในสระหากเหลือไปถึงฤดูแล้งให้ใช้ปลูกพืชอายุสั้นและราคาดี เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง และผักต่างๆ ไม่ควรนำไปใช้ปลูกข้าวนาปรังเป็นอันขาด นอกจากปีใดน้ำท่วมแปลงข้าวเสียหายหมด จึงจะพิจารณาปลูกข้าวนาปรังได้เพื่อให้มีข้าวบริโภค แต่ต้องประมาณพื้นที่ปลูกข้าวให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ในสระ รูปร่างและขนาดของสระอาจยืดหยุ่นได้บ้าง เช่น ในพื้นที่ที่ฝนมีปริมาณทั้งปีมาก หรือมีน้ำชลประทานมาเติมได้ ขนาดสระอาจจะน้อยกว่าร้อยละ 30 และถ้าพื้นที่บังคับหรือต้องการเลี้ยงสัตว์อาจขุดสระและบ่อหลายๆ บ่อก็ได้ แต่เมื่อรวมพื้นที่ทั้งหมดแล้วจะต้องใกล้เคียงร้อยละ 30 นอกจากนี้อาจจะรวมนับพื้นที่ร่องน้ำที่ยกคันขึ้น เพื่อปลูกไม้ยืนต้นด้วย หากสามารถเก็บน้ำในร่องได้ตลอดปี ในกรณีที่สามารถส่งน้ำมาจากแหล่งชลประทานได้ ต้องส่งมาในระบบท่อปิดเพื่อลดการสูญเสีย และส่งมาเติมในสระตามช่วงเวลาที่จำเป็นเท่านั้น การใช้น้ำจากสระต้องเป็นไปตามหลักประหยัดและพึ่งตนเองให้มากที่สุด



หากไม่ได้รับความช่วยเหลือการขุดสระจากราชการ หรือ แหล่งเงินทุนอื่น และต้องการขุดเอง ควรทยอยขุดสระแต่ละปีตามกำลังเงินและกำลังกายจนกว่าจะครบพื้นที่ร้อยละ 30 รูปร่างของสระคาดว่ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวๆ น่าจะลดการระเหยของน้ำได้ดีกว่าบ่อกว้าง ดินที่ขุดมาจากสระใช้ถมเป็นพื้นดินรอบพื้นที่เพื่อกันน้ำท่วม หากไม่ใช้ทำคันดินจะต้องแยกดินส่วนบนไว้ส่วนหนึ่ง สำหรับนำมาเกลี่ยทับดินชั้นล่าง

2. ร้อยละ 30 ส่วนที่สอง ใช้ปลูกข้าวเนื้อที่ประมาณ 4.5 ไร่ เนื่องจากทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า ข้าวเป็นอาหารหลักและอาหาร
ประจำวันของคนไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์ และเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงและมั่นใจในการดำรงชีวิต เกษตรกรไทยไม่ว่าจะโยกย้ายไปอยู่ที่ใดหรือเปลี่ยนอาชีพไปอย่างใด อย่างน้อยจะต้องมั่นใจว่ามีข้าวกิน และพยายามปลูกข้าวให้พอกินตลอดปี เพื่อให้มีเสถียรภาพด้านอาหาร ครอบครัวที่มีสมาชิก 6 คน ถ้าบริโภคข้าวเฉลี่ยประมาณคนละ 200 กิโลกรัมต่อปี จะต้องบริโภคข้าวไม่ต่ำกว่าปีละ 1,200 กิโลกรัม และถ้าทำนาปีในสภาพที่ควบคุมน้ำไม่ให้ขาดช่วงได้เมื่อฝนแล้ง ก็จะได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่าปีละ 4.5 x 325 = 1,462.5 กิโลกรัม แต่ถ้าบำรุงรักษาดีอาจจะมีผลผลิตเพิ่มมากกว่านี้ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้วหากยังมีฝนและน้ำในสระเหลือ ควรเลือกปลูกพืชอายุสั้นและราคาดีในสภาพนาดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น 3. ร้อยละ 30 ส่วนที่ 3 เนื้อที่ 4.5 ไร่ ให้ปลูกพืชสวน ไม้ยืนต้น และพืชไร่อย่างผสมผสาน โดยมีวิธีการและชนิดของพืชที่แตกต่างกันหลากหลายกันไปแต่ละพื้นที่ และขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ภูมิภาค ฤดูกาล ตลาด และเส้นทางคมนาคม ตลอดจนประสบการณ์และภูมิปัญญาของเกษตรกร เป็นต้น ไม่มีสูตรตายตัว ยืดหยุ่นได้ การปลูกพืชให้หลากหลายเช่นนี้จะเป็นการช่วยการกระจายเงินทุน แรงงาน น้ำ และปัจจัยการผลิตต่างๆ กระจายความเสียหายจากศัตรูพืช และความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ ตลอดจนกระจายรายได้ด้วย พืชที่ควรปลูกระยะแรกควรเป็นกล้วย เพื่อบังร่มและเก็บความชื้นในดิน ต่อไปควรเป็นผลไม้และไม้ยืนต้น ระหว่างที่ไม้ยืนต้นยังไม่โตก็ปลูกพืชล้มลุกอายุสั้นระหว่างแถว เช่น พริก มะเขือ ถั่วต่างๆ จนกว่าจะปลูกไม่ได้ จึงเปลี่ยนไปปลูกไม้ทนร่ม เช่น ขิง ข่า และพืชหัว เป็นต้น พื้นที่ปลูกพืชผสมผสานเหล่านี้มีพื้นที่รวมกันประมาณ 4.5 ไร่ แต่ในบางท้องที่ขนาดของสระและพื้นที่ปลูกข้าวรวมกันอาจน้อยกว่า 9 ไร่ พื้นที่ที่ลดลงอาจใช้ปลูกพืชผสมได้ รวมทั้งบริเวณรอบที่อยู่อาศัย คันดิน ทางเดิน และขอบสระ อาจใช้ปลูกพืชต่าง ๆ ได้ นับพื้นที่รวมกันเป็นพื้นที่ปลูกพืชผสม



พืชผสมเหล่านี้ส่วนใหญ่จะใช้เป็นอาหารประจำวัน ได้แก่ ผัก ผลไม้ สมุนไพร และเครื่องเทศ ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยที่กินกับข้าวมาเป็นเวลาช้านาน เช่นเดียวกับข้าวและปลา โดยเฉพาะพืชผักพื้นเมือง ปัจจุบันมีมากกว่า 160 ชนิด บางชนิดมีพบทั่วทุกภาค บางชนิดมีเฉพาะภาค ส่วนที่เหลือก็สามารถจำหน่ายเป็นรายได้ ตัวอย่างของพืชที่ควรเลือกปลูก ได้แก่ 3.1 พืชสวน (ไม้ผล) เช่น มะม่วง มะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อน มะพร้าวน้ำหอม มะขาม ขนุน ละมุด ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ส้มโชกุน ฝรั่ง น้อยหน่า กระท้อน มะละกอ ชมพู่ และกล้วย เป็นต้น
3.2 พืชสวน (ผักยืนต้น) เช่น แคบ้าน มะรุม สะเดา ชะอม ขี้เหล็ก ผักหวาน กระถิน เหลียง เนียง สะตอ ทำมัง ชะมวง มันปู มะอึก มะกอก ย่านาง ถั่วมะแอะ ตำลึง ถั่วพู และมะเขือเครือ เป็นต้น 3.3 พืชสวน (ผักล้มลุก) เช่น พริก กระเพรา โหระพา ตะไคร้ ขิง ข่า กระชาย ชะพลู แมงลัก สะระแหน่ บัวบก มันเทศ มันสำปะหลัง เผือก บุก ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม มะเขือ ฟักเขียว ฟักทอง ผักบุ้งไทย บักบุ้งจีน ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ผักไผ่ หอม กระเทียม และมะละกอ เป็นต้น 3.4 พืชสวน (ไม้ดอกและไม้ประดับ) เช่น มะลิ ดาวเรือง บานไม่รู้โรย กุหลาบ รัก ซ่อนกลิ่น ปทุมมา กระเจียว และดอกไม้เพื่อทำดอกไม้แห้ง เป็นต้น 3.5 เห็ด เช่น เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดเป๋าฮื้อ เป็นต้น 3.6 สมุนไพรและเครื่องเทศ บางชนิดจัดอยู่ในกลุ่มพืชผักแล้ว เช่น พริก พริกไทย กระเพรา สะระแหน่ แมงลัก และตะไคร้ เป็นต้น แต่ยังมีบางประเภทที่ใช้เป็นยารักษาโรคและน้ำมันหอม เช่น ขมิ้นชัน (โรคกระเพาะ) พญายอหรือเสลดพังพอน (โรคเริม) ไพล (ปวดเมื่อย) ฟ้าทะลายโจร (แก้ไข้) มะแว้ง (แก้ไข้และแก้ไอ) ชุมเห็ดและมัขามแขก (ยาระบายอ่อนๆ) ทองพันชั่ง (ความดันสูง) กระเทียม (ความดันสูง) ตะไคร้หอม (ยากันยุง) และแฝกหอม เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: