วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับแนวคิดทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์

ในเชิงทฤษฏี สามารถแยกองค์ประกอบทั้งสามของเศรษฐกิจพอเพียงออกเป็น ๒ กลุ่ม ได้แก่ ส่วนที่สร้างให้เกิดความยั่งยืนของการใช้ทรัพยากร ในสถานการณ์ที่ปราศจากผลกระทบภายนอก (Deterministic optimality) ซึ่งประกอบด้วยความพอประมาณ และความมีเหตุผล และส่วนที่เป็นองค์ประกอบที่เสริมประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรให้พร้อมต่อการรองรับ ผลกระทบจากภายนอก ซึ่งมีความไม่แน่นอน (Stochastic optimality) อันได้แก่ การมีภูมิคุ้มกันในตัว แนวคิดเรื่องความพอประมาณ มี ๒ แนวทางหลัก ได้แก่ ความพอประมาณ โดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์ทางสังคมที่ถูกกําหนด และความพอประมาณ โดยเปรียบเทียบกับศักยภาพของตนเอง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวมีความหมายครอบคลุมกระบวนการ Optimisation ภายใต้ข้อจํากัดต่างๆ หรือใกล้เคียงกับแนวคิดเรื่อง bounded rationality นอกจากนี้ ความพอประมาณยังสามารถนํามาซึ่งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน หรือการสร้างประสิทธิภาพในเชิงพลวัตรได้ด้วย สําหรับความมีเหตุมีผลในบริบทของ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีความเป็น เอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องด้วยมีปัจจัยในเรื่องคุณธรรมกํากับควบคู่กับการดําเนินทางสายกลาง ในขณะที่คําจํากัดความทางทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับความมีเหตุมีผล เช่น Rationality หรือ rational expectation และ common knowledge ไม่สามารถอธิบายความมีเหตุมีผลในบริบทของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนแนวคิดเรื่อง ระบบภูมิคุ้มกันในตัวของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกันโดยรวม กล่าวคือ มีลักษณะในการบริหารความเสี่ยง การกระจายความเสี่ยง การป้องกันความเสี่ยง การลดความเสี่ยง และการสร้างกลไกที่ก่อให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า ยังมีข้อแตกต่างในด้านของหลักการตัดสินใจ ซึ่งทางสายกลางเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจได้แทนหลัก Optimization และอาจจะ เหมาะสมกว่าภายใต้ข้อจํากัดของความไม่แน่นอนจากอนาคต สําหรับเงื่อนไข ๒ ประการ คือ ความรู้และคุณธรรมในระบบเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วยความรู้ ๓ ด้านคือ รอบรู้ในวิชาการต่างๆ รอบคอบในการเชื่อมโยง และระมัดระวังในการนําความรู้ไปใช้ ส่วนเงื่อนไขคุณธรรมที่ต้องมีคุณธรรมในมิติของจิตใจ และ การกระทําที่เน้นความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน และความเพียร ยังจําเป็นต้องวิเคราะห์เพิ่มเติมว่ าเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์มีความคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันอย่างไร นอกจากนี้แล้ว ยังต้องมีการค้นคว้าเพิ่มเติมถึง บทบาทของรัฐ บทบาทของกลไกตลาด และบทบาทขององค์กรและชุมชนต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่อ้างถึงในการเปรียบเทียบข้างต้นนั้น ล้วนมีความสําคัญอย่างยิ่งต่อการอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐศาสตร์ จนทําให้นักเศรษฐศาสตร์ผู้บุกเบิกทฤษฎีดังกล่าวเหล่านั้นได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นจึงถือได้ว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงครอบคลุมถึงหลักการสําคัญที่เป็นหัวใจของวิชาเศรษฐศาสตร์ นอกจากนี้แล้ว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนหรือข้อจํากัดของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มีอยู่ในขณะนี้หลายข้อ แม้ว่าในขณะนี้ อาจจะยังไม่สามารถจะสร้างทฤษฎีที่อธิบายแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างสมบูรณ์ แต่สามารถชี้ถึง ทิศทางของงานวิจัยที่ควรมีขึ้นเพื่อบุกเบิกสร้างเสริมองค์ความรู้ให้แก่วิชาการเศรษฐศาสตร์ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: